ห้องแล็บจิสด้าได้รับรองมาตรฐานของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ แห่งแรกแลัแห่งเดียวในอาเซียน

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ห้องปฏิบัติการ GALAXI ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการรับรองมาตรฐาน NADCAP ซึ่งเป็นมาตรฐานของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ในขอบข่าย Non-Metallic Material Testing หรือการทดสอบวัสดุอากาศยานในลักษณะห้องปฏิบัติการอิสระ หรือ Independent Laboratory
การรับรองในครั้งนี้ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศ สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการ GALAXI ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ AS9100 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐแห่งเดียวในไทยและมาตรฐานรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ ISO/IEC17025 มาแล้ว ครั้งนี้ถือเป็นมาตรฐานที่ 3 ที่ได้รับในระดับสากล
ดร.ณัฐวัฒน์ กล่าวว่า อว. มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure - NQI) โดย จิสด้า มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้เกิดขึ้นและสามารถใช้งานได้จริงภายในประเทศ ซึ่งการมีห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมดังกล่าว ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศมากขึ้น และจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทยสามารถทำธุรกิจได้คล่องตัวและเข้มแข็งมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการส่งทดสอบยังต่างประเทศที่มีราคาแพงและลดเวลาการทดสอบได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง รวมถึงจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านต่างๆได้ อีกทั้งแสดงถึงความพร้อมในด้านมาตรฐานและซัพพลายเชนของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
"จิสด้า ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านอวกาศเพียงด้านเดียว แต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมผลิตสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศด้วย ห้องปฏิบัติการ GALAXI จึงมุ่งเน้นการให้บริการทดสอบในระดับสากล โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศมาขอรับบริการทดสอบอย่างต่อเนื่องซึ่งแสดงให้เห็นความพร้อมของจิสด้า ที่มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศพร้อมที่รองรับภารกิจทดสอบประกอบ ดาวเทียม ที่จะเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า พร้อมกับโครงการระบบดาวเทียม THEOS-2 อีกด้วย" ดร.ณัฐวัฒน์ กล่าว

ที่มา : Manager online 6 มิถุนายน 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000054026]