หลายคนเก็บผักตบชวาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่ทราบว่าจะจัดการกับวัชพืชน้ำนี้อย่างไรต่อ แต่สำหรับชุมชนบางกระเจ้ามีตัวช่วยเป็นเครื่องทำปุ๋ยหมักที่เปลี่ยนผักสวะทั้งหลายให้กลายเป็นปุ๋ยได้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพิ่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากวัชพืชและผักตบชวา จำนวน 7 เครื่อง ให้แก่ชุมชนในตำบลบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เครื่องผลิตปุ๋ยหมักดังกล่าวเป็นผลงานของ ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้รับทุนจาก วช.เพื่อพัฒนาเครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้
เครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้เหมาะสำหรับบ้านหรือหน่วยงานที่มีขยะอินทรีย์ประเภทเศษผัก เศษอาหาร ใบไม้แห้ง วัชพืชน้ำ เช่น จอกแหน ผักตบชวา โดยเครื่องจะช่วยพลิกกลับกองปุ๋ยหมัก ไม่ต้องใช้แรงงานคนพลิกกลับเหมือนการผลิตปุ๋ยหมักแบบเดิมๆ
ภายในเครื่องผลิตปุ๋ยหมักมีอุปกรณ์ช่วยกวนผสม เมื่อเปิดใช้งานจะช่วยกวนผสมอินทรีย์วัตถุภายในถังหมัก ทำให้อากาศไหลวนเข้าไป เพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน ทำให้การย่อยสบายเกิดได้เร็วภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ทำให้ได้สารฮิวมัสที่มีลักษณะคล้ายดิน
เครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้มี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กสำหรับครัวเรือนที่มีความจุถังหมัก 80 ลิตร และขนาดใหญ่สำหรับภาคการเกษตรที่มีความจุถังหมัก 400 ลิตร โดยเครื่องปุ๋ยที่ชาวชุมชนบางกระเจ้าได้รับคือขนาด 400 ลิตร ซึ่งเป็นขนาดที่ ดร.ลักขณาระบุว่า เหมาะสำหรับชุมชนและภาคเกษตร
ดร.ลักขณอธิบายถึงการใช้งานเครื่องผลิตปุ๋ยหมักขนาด 400 ลิตรว่า ในกรณีใช้ผักตบชวาหรือวัชพืชน้ำ เช่น จอก แหน จะใช้ผักตบชวา 2 ส่วน ต่อใบไม้แห้ง 1 ส่วน ต่อมูลสัตว์ 0.5-1 ส่วน โดยคิดเป็นน้ำหนักสดผักตบชวาประมาณ 150 กิโลกรัม หากใน 1 เดือน ผลิตปุ๋ยหมัก 4 รอบ จะกำจัดผักตบชวาได้ประมาณ 600 กิโลกรัม และแต่ละรอบการผลิตจะได้ปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม รวมทั้งเดือนจะได้ปุ๋ยหมัก 200 กิโลกรัม
วช.ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการจิตอาสาเฉพาะกิจกลุ่มงานโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ภายใต้ “โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาส มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เมื่อต้นเดือน ก.ค.62 ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ต.บางกระเจ้า อ.พระประแดง พร้อมทั้งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 145 คน
ภายในกิจกรรมดังกล่าว ดร.ลักขณา ได้สาธิตวิธีการใช้เครื่องรวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยหมักและดินปลูกจากวัชพืชและผักตบชวา และการปลูกพืช พร้อมทั้งบรรยายในเรื่อง “การปรุงดิน: การทำดินไม่ดีให้กลายเป็นดินดีภายใน 14 วัน”
อีกทั้ง นายสุเทพ กุลศรี เครือข่ายการควบคุมโดยชีววิธี ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ วช. ได้ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “การปลูกผักในถุงดำแล้วนำไปเลี้ยงต่อที่บ้าน: ปลูกแบบง่ายๆ แต่ให้ได้อย่างมืออาชีพ” ให้แก่ชุมชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกต้นไม้จากวัชพืชและผักตบชวา
ฝ่ายจัดงานคาดหวังว่าการสาธิตและให้ความรู้ดังกล่าว จะช่วยให้ชุมชนนำความรู้ไปใช้ในการเกษตรและจำหน่ายเป็นการเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยกำจัดวัชพืชและผักตบชวา และเป็นการพัฒนาลำน้ำพร้อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ตอนนี้ วช.ได้มอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักไปแล้วจำนวน 23 เครื่อง ให้แก่ 1.ชุมชนใน อ.บางไทร จ.อยุธยา จำนวน 8 เครื่อง 2.ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง จำนวน 8 เครื่อง และ 3. ชุมชนในตำบลบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จำนวน 7 เครื่อง และยังเหลือจัดกิจกรรมแบบนี้อีก 5 จังหวัด คือ จ.ลพบุรี จ.กาญจนบุรี จ.นครปฐม จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์ รวมทั้งหมด 37 เครื่อง
เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก เป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยที่ ดร.ลักขณาได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากส วช.ในปี พ.ศ.2555 เมื่อสิ้นสุดโครงการก็มีการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปตามโรงเรียนและบ้านเรือน แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า การทิ้งขยะอินทรีย์ลงถังเพื่อให้ อบต.หรือเทศบาลนำไปกำจัดนั้นง่ายกว่าการแยกขยะแล้วนำมาทำปุ๋ยหมัก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจนำไปใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเกษตรกร และมี 2 กลุ่ม ที่นำเครื่องผลิตปุ๋ยหมักไปใช้เพื่อการผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกจำหน่าย ก่อให้เกิดรายได้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ กลุ่มชุมชนเมืองวัดท่าพูด และกลุ่มโรงเรียนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนสถาพรวิทยา
สำหรับปี พ.ศ. 2562 นี้ ดร.ลักขณา ระบุว่า เป็นโอกาสพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในชื่อกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” จัดกิจกรรมมอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจำนวน 60 เครื่อง ให้กับ 60 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในการทำปุ๋ยหมักด้วยวัชพืชน้ำและผักตบชวา ส่งเสริมการผลิตผักปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่กลุ่มหรือชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
"รู้สึกภาคภูมิใจที่มีผู้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถึงแม้จะเป็นผลงานเล็กๆ แต่หากมีประชาชนสนใจนำไปใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำปุ๋ยหมักทั้งด้วยการนำขยะอินทรีย์และผักตบชวามาใช้เป็นวัตถุดิบกันมากขึ้น ก็จะช่วยลดปริมาณวัชพืชน้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำมีคุณภาพดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย หากประชาชนสนใจสามารถโทรสอบถามข้อมูลได้ที่ 094-4635614 ค่ะ" ดร.ลักขณากล่าว

ที่มา : Manger online 4 กรกฏาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000063518]