ทีมกะลาสีอาสาสมัครบนเรือสินค้าขนาด 43 เมตร เดินทางจากฮาวายไปยังใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อกอบกู้ขยะพลาสติกที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในทะเล และได้เดินทางกลับไปยังฮอลโนลูลูพร้อมขยะ 40 ตัน ส่วนใหญ่ของขยะที่เก็บได้เป็นชิ้นส่วนของอวนหาปลา
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเก็บกู้อวนหาปลาที่เป็นอันตรายต่อวาฬ เต่า ปลา และยังสร้างความเสียหายแก่ปะการังด้วย
ทีมอาสาสมัครทีมนี้ทำงานให้กับสถาบันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Ocean Voyages Institute ที่ไม่หวังผลกำไร ที่ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ได้กอบกู้อวนหาปลาเหล่านี้ออกจากมหาสมุทรบริเวณนี้ที่กระแสน้ำทะเลจากฮาวายกับแคลิฟอร์เนียมาบรรจบกัน
Mary Crowley ผู้ก่อตั้งกลุ่ม กล่าวว่า การกอบกู้ขยะครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของทีมงานที่ยาวนาน 25 วัน เรือสินค้าเดินทางกลับไปยังฮอนโนลูลูเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน มีการแยกขยะพลาสติกจากอวนหาปลาที่กอบกู้มา และนำไปบริจาคแก่ศิลปินท้องถิ่นหลายคนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นงานศิลปะเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับมลพิษขยะพลาสติกในมหาสมุทร
ส่วนขยะที่เหลือถูกนำไปมอบให้โรงงานผลิตไฟฟ้าที่ปลอดจากควันเสีย โดยขยะจะถูกเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงาน
Nick Mallos ผู้อำนายการของโครงการ Trash Free Seas Program แห่งหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่หวังผลกำไร Ocean Conservancy ประมาณว่ามีอวนและอุปกรณ์หาปลาราว 600,000 ถึง 800,000 ตันถูกทิ้งลงทะเลหรือสูญหายไปในทะเลในช่วงเกิดมรสุมหลายครั้งทุกปี
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นอกจากนี้ยังมีขยะอีก 9 ล้านตันที่เป็นขยะพลาสติก ทั้งขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ของเล่น และวัสดุอื่นๆ ที่ไหลลงไปในทะเลทุกปีจากชายทะเล แม่น้ำและลำธาร
สถาบัน Ocean Voyages Institute เป็นหนึ่งในสถาบันทั่วโลกที่พยายามจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ส่วนใหญ่เน้นทำความสะอาดชายหาดแห่งต่างๆ ด้วยการเก็บอวนหาปลา กับดักปลา และอุปกรณ์หาปลาอื่นๆ ที่มาเกยฝั่ง และพยายามผลักดันให้มีการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แพขยะใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีขยะที่น่าจะมีน้ำหนักรวมทั้งหมด 7 ล้านตัน และมีความหนาจากผิวหน้าทะเลลงไปถึง 9 ฟุต แพขยะแห่งนี้ได้ชื่อว่า "วอร์เท็กซ์ขยะแปซิฟิก" ขยะพลาสติกเหล่านี้ส่วนใหญ่ไหลมาจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย
แพขยะตั้งอยู่ระหว่างเกาะฮาวายกับแคลิฟอร์เนีย มองเห็นไม่ง่ายนักจากห้วงอวกาศเพราะกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง
ทีมนักวิจัยจากโครงการ Ocean Cleanup กล่าวว่า แพขยะแปซิฟิกกินพื้นที่ 1 ล้าน 6 แสนตารางกิโลเมตร และการวิจัยหลายชื้นชี้ว่า แพขยะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังพบว่ามีแพขยะคล้ายๆ กันนี้ลอยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีชื่อว่า "แพขยะใหญ่แอตแลนติกเหนือ" ด้วย
ที่มา : Voice of America 7 กรกฏาคม 2562 [https://www.voathai.com/a/pacific-ocean-floating-trash-tk/4987637.html]