กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เตือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปัจจุบันพบปริมาณมากขึ้น ชี้เหตุสำคัญของการปล่อยสารพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง “สารปรอท” คือ ไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้ง และนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง

     ดร.หทัยรัตน์ การีเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มอากาศ เสียงและความสั่นสะเทือน ศูนย์วิจัยและการฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนในปัจจุบัน เกิดจากการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธีของชุมชน เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ จอ LCD โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี เป็นต้น เมื่อถูกทิ้งเป็นขยะโดยไม่คัดแยก หากนำไปกำจัดไม่ถูกวิธี ซึ่งหมายถึงการนำไปฝังกลบ แต่กลับนำไปเข้าเตาเผา สารโลหะหนัก เช่น ปรอท (Mercury) ที่ปนในขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ จอ LCD ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำก็จะระเหยกลายเป็นไอและแขวนลอยอยู่ในอากาศที่คนหายใจเข้าไป และตกตะกอนลงสู่ดินและแหล่งน้ำเมื่อฝนตก สารปรอทก็เคลื่อนย้ายไปได้ไกลในสิ่งแวดล้อม พิษของปรอทมีตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อย่างเช่นการที่คนไปกินปลาที่มีการสะสมของสารปรอทผ่านทางห่วงโซ่อาหารจะส่งผลต่อระบบการทำงานของไต ระบบทางเดินหายใจ

ที่มา : Manager online 20 กรกฏาคม 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000074478]