ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่ซึ่งมีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดของโลกไม่ได้อยู่ในเม็กซิโก อินเดียหรือจีน แต่เป็นบริเวณรัฐทางด้านตะวันตกของสหรัฐซึ่งมีปัญหาไฟป่าในวงกว้าง โดยเมืองพอร์ตแลนด์ในรัฐโอเรกอนของสหรัฐติดอันดับเมืองใหญ่ซึ่งมีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในสัปดาห์นี้ตามรายงานการจัดคุณภาพอากาศของ IQAir.com
ส่วนนครซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนียก็เพิ่งผ่านพ้นการแจ้งเตือนระดับมลพิษในอากาศที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเมื่อวันพฤหัสบดีหลังจากที่อากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในระดับเลวร้ายต่อสุขภาพ 30 วันติดต่อกัน ซึ่งนับว่าเป็นเวลานานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เมื่อปี 2561 เคยมีการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพในเขตนครซานฟรานซิสโกเป็นเวลา 14 วันติดต่อกัน
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเราทราบกันแล้วว่ามลภาวะในอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 มีผลร้ายต่อสุขภาพและเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับห้าที่ทำให้มีการเสียชีวิตทั่วโลก เพราะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงหนึ่งในสามสิบของขนาดเส้นผมมนุษย์นั้นสามารถเข้าไปถึงฐานปอดและแทรกเข้าไปในกระแสเลือด สร้างความเสียหายต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้หัวใจวาย สมองขาดโลหิตหล่อเลี้ยง เกิดมะเร็งในปอด ภาวะปอดอุดตัน การอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้เกิดภาวะความจำเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
ขณะที่นักวิจัยทราบว่าผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับมลภาวะในอากาศระยะยาวจะเป็นอย่างไรนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะในอากาศ เช่นแก๊สและฝุ่นผงขนาดเล็กจากไฟป่าในช่วงสั้นๆ แต่บ่อยครั้งนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาคุณภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เดวิสก็เตือนว่าเรามีโอกาสจะได้เห็นไฟป่าในลักษณะที่เกิดขึ้นในรัฐแถบตะวันตกของสหรัฐปีนี้บ่อยครั้งขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น และการเกิดแต่ละครั้งจะมีเวลายาวนานมากกว่าเดิมเนื่องจากปัญหาโลกร้อนนั่นเอง
ที่มา : Voice of America 19 กันยายน 2563 [https://www.voathai.com/a/us-wildfires-health-pollution/5589300.html]