ตอนเด็กๆ ก่อนกินข้าวคุณอาจเคยต้องพนมมือขึ้นพร้อมกับท่อง ‘ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ’ จากนั้นต้องลงมือทานจนหมดไม่ให้เหลือ เมื่อโตขึ้นจึงเกิดคำถามในใจว่าเราจะท่องไปทำไมกัน
และในวันที่คุณไม่ต้องท่องบทนี้พร้อมพนมมือก่อนทานข้าวแล้ว คุณยังกินข้าวเหลือกันอยู่หรือเปล่า
แล้วเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่าอาหารที่คุณกินไม่หมดจะถูกส่งไปที่ไหนหรือจะมีจุดจบที่ใด คุณอาจตอบว่า แน่ล่ะ มันคงต้องถูกทิ้งในกองขยะสักที่ หรือย่อยสลายได้เอง แต่หารู้ไม่ว่าคุณคิดผิดมหันต์ เพราะเรากำลังประสบปัญหาขยะอาหารอยู่
ซึ่งการทับถมของขยะเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียมากมายอีกนับไม่ถ้วน
ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่าไหม หากทำให้ของที่ถูกทิ้งกลายเป็นสิ่งที่มีค่า
วันนี้เราจึงเดินทางมาพบ บรูซ-โป้วเจา เฉิน ผู้จัดการฝ่ายโครงการ มูลนิธิ Thai SOS หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร ที่นี่คือมูลนิธิที่รับบริจาคอาหารเพื่อนำมาส่งต่อในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่ทำให้อาหารกลายเป็นขยะไปอย่างสูญเปล่า
เริ่มจากความตั้งใจของกลุ่มคนเพียงหยิบมือ สู่การส่งต่อไปยังอีกหลายปากท้อง ในรูปแบบของอาหารที่มีคุณภาพดีแต่ต้องถูกทิ้ง เพียงเพราะเป็นส่วนเกินจากโรงแรมหรือห้างร้าน ไปจนกระทั่งถึงพื้นนาของชาวเกษตรกร สู่การนำเศษอาหารที่ทานไม่ได้ไปทำเป็นปุ๋ย
“ผมเชื่อเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มให้คนสามารถที่จะสร้างผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาไปด้วยกันได้”
เพราะขยะจะไม่มีคุณค่าเกิดขึ้นเลย หากถูกทิ้งกองรวมกันอยู่เฉยๆ ทั้งที่มันสามารถสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้
ในปี 2016 กรมควบคุมมลพิษออกมาชี้แจงว่า 27.06 ล้านตันของขยะมูลฝอย เกินครึ่งหรือกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นขยะอาหารทั้งสิ้น สถิติอันน่าตกใจที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือขยะอาหารที่คนไทยทิ้งต่อวันมีปริมาณสูงถึง 300 – 500 ตัน
ดังนั้น ปัญหาขยะจึงนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในทันที “เมื่อเราพูดถึงภาพรวมของปัญหาจริงๆ เรากำลังพูดถึงปัญหาของขยะอาหารล้นเมือง เพราะคนมักจะเข้าใจผิดว่าขยะอาหารย่อยสลายได้ แล้วจะไม่เป็นปัญหา” บรูซเริ่มอธิบาย
แค่การทับถมของขยะอาหารพวกนี้ก็ก่อให้เกิดอันตรายแล้ว อันตรายอย่างไร?
การทับถมของขยะประเภทอินทรีย์ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน และในสภาพการย่อยสลายนั้นย่อมก่อให้เกิดแก๊สมีเทน สำหรับปฏิกิริยาภาวะโลกร้อน แก๊สมีเทนส่งผลเสียกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า แน่นอนว่านี่คือปัญหาร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กองขยะอาหารยังนำมาซึ่งกลิ่นเหม็น พาหะนำโรคอย่างหนูและแมลงวัน รวมทั้งเหล่าเชื้อโรคทั้งหลาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนอย่างเลี่ยงไม่ได้
บรูซเล่าว่า “ตอนที่ผมเรียนจบใหม่ๆ ผมมีโอกาสได้ไปเรียนรู้การสร้างความยั่งยืนตามเกาะต่างๆ ในประเทศไทย อย่างลานขยะที่ผมไปบ่อยที่สุด ก็คือลานขยะบนเกาะสาก เกาะล้าน แล้วก็เกาะเต่า ผมก็นั่งดูวัฏจักรลานขยะพวกนี้ ตั้งแต่ช่วงที่แมลงวันเต็มไปหมดทั่วลานขยะ จนแมลงปอมากิน ยันแมลงวันวนกลับมาใหม่ การอาศัยรอบกองขยะมันสร้างผลกระทบต่อคน คนบนแผ่นดินใหญ่อาจผลักภาระเรื่องขยะออกไปไกลๆ ได้ แต่คนบนเกาะเขาจะทำอย่างไรในเมื่อมันอยู่ใกล้แค่นั้น”
คุณอาจคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เผาขยะอาหารพวกนี้เสียก็สิ้นเรื่อง แต่หารู้หรือไม่ว่าการนำขยะเปียกหรือขยะอาหารเข้าเตาเผาร่วมกับขยะอื่นๆ กลับทำให้เตามีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิพื้นฐานที่เตาเผาต้องการ ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดสารเคมีตกค้าง และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างร้ายแรงที่สุด
บรูซจึงหันมาจริงจังในการจัดการปัญหาขยะอาหาร เพราะรู้ว่ามันเป็นปัญหาและมีผลกระทบต่อทุกชีวิตรวมถึงโลกของเรา “นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจการจัดการกับขยะอาหารเป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นปัญหาระดับชาติจริงๆ แถมแก้ไม่ได้ด้วยวิธีอื่นเลย ถ้าไม่เริ่มหาทางออกกันเดี๋ยวนี้”
มูลนิธิ Thai SOS หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร ก่อตั้งขึ้นโดยนักเดินทางชาวเดนมาร์กผู้มาเข้าพักที่โรงแรมในประเทศไทย แล้วพบว่าอาหารเหลือทิ้งจากการให้บริการแขกในโรงแรมที่ถูกนำไปทิ้งจำนวนมากมายนั้นเป็นของที่มีคุณภาพดีมากและยังกินได้
โครงการ Food Rescue จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะสร้างระบบการกระจายอาหารส่วนเกิน โดยรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือการขายจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำอาหารส่วนเกินเหล่านั้นส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการแต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ตามโรงเรียน ชุมชน สถานสงเคราะห์
อาหารส่วนเกินจะกลายเป็นขยะอาหารทันที ถ้ามันถูกทิ้งขว้างไปโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ อีก ทั้งที่ตัวมันยังไม่หมดอายุ คุณภาพดี และรสชาติอร่อย “จากอาหารส่วนเกินปริมาณมหาศาลที่จะต้องถูกนำไปทิ้งเป็นขยะอาหาร โครงการ Food Rescue สามารถต่อชีวิตพวกมัน โดยส่งต่อไปยังผู้รับบริจาคอาหาร ได้ 1 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณอาหารส่วนเกินทั้งหมดในกรุงเทพฯ”
ตัวเลขดูเหมือนน้อยนิด แต่ถ้านำปริมาณอาหารทั้งหมดตีเป็นจำนวนมื้อ แล้วหารด้วยค่าดำเนินการทั้งหมดของ Food Rescue จะพบข้อมูลที่น่าตื่นเต้นว่าอาหารแต่ละมื้อที่ผู้บริจาคได้รับไปนั้นมีราคาอยู่ที่ 4 บาทเท่านั้น เพราะไม่ต้องแบกรับต้นทุนด้านวัตถุดิบ บรูซบอกว่า ตามปกติภาครัฐจะสนับสนุนค่าอาหารให้สถานสงเคราะห์ต่างๆ ด้วยต้นทุน 20 – 30 บาทต่อมื้อ ต้นทุนเท่านี้ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบดีๆ ที่มีสารอาหารครบถ้วนได้
Food Rescue จึงเป็นเหมือนตัวกลางในการส่งต่อวัตถุดิบอาหารคุณภาพเยี่ยมที่เป็นส่วนเกินเหลือทิ้งอยู่แล้วไปสู่ผู้ที่ต้องการ ซึ่งถ้าโครงการดำเนินไปและขยายเป็นโครงข่ายที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต จะสามารถส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการกินของคนในสถานสงเคราะห์ในประเทศไทยได้ ด้วยระบบอาหารหมุนเวียนที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จของ Food Rescue เป็นเครื่องการันตีว่าระบบอาหารหมุนเวียนที่ว่าสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ช่วงปลายปี 2016 จนถึงต้นปี 2017 น้ำหนักเฉลี่ยของอาหารส่วนเกินที่รับบริจาคมีประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยรถรับอาหารเพียงคันเดียวและยังไม่สามารถบรรจุได้เต็มคันรถ จนปัจจุบันพวกเขาสามารถรับอาหารเพิ่มขึ้นได้เกิน 1 ตันต่อวัน จนมีรถพร้อมตู้แช่เย็นที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 2 – 4 องศาเซลเซียสอยู่ถึง 4 คัน เพื่อรับและส่งอาหาร
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา Food Rescue ดำเนินการ 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะคุณภาพอาหารแปรผันตามอายุการผลิต ทีมงานของมูลนิธิรักษ์อาหารจึงต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุดพัก เพื่อส่งต่ออาหารเหลือคุณภาพดีไปสู่ผู้คนอย่างรวดเร็วที่สุด
“พวกเราเห็นความสำเร็จมากมายในยุโรปและในประเทศอเมริกาตอนเหนือ ซึ่งเป็นประเทศในเขตหนาว แต่ว่าประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน ฉะนั้น ไม่ใช่แค่พวกเราทำตามเขาแล้วจะรอดนะ พวกเราต้องระวังมากกว่าเขา ต้องลงทุนมากกว่าเขา ถึงจะสร้างระบบนี้ในประเทศไทยได้ และพวกเราก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้ แค่ต้องใส่ใจมากขึ้นอีกหน่อย” บรูซเล่าด้วยสายตามุ่งมั่ง
นอกจากที่องค์กรจะทำหน้าที่จัดการอาหารส่วนเกินแล้ว ยังมีการอบรม ให้ความรู้ และผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งเหล่านี้ด้วย
ฝ้าย-ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล คือหนึ่งในทีมของมูลนิธิรักษ์อาหารผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับผู้บริจาคอาหาร ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เธอจะประสานงานกับทั้งผู้จัดการทั่วไป ผู้ควบคุมคุณภาพ และเชฟ ที่ทราบดีว่าในแต่ละวันมีอาหารส่วนเกินเหลือทิ้งเท่าไหร่ ฝ้ายบอกว่า เชฟทุกคนที่เธอประสานงานล้วนยินดีที่อาหารของพวกเขาจะได้รับการส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการ
ทางมูลนิธิมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าอาหารที่บริจาคได้ต้องผ่านเกณฑ์และกระบวนการตรวจวัดประสิทธิภาพอะไรบ้าง ตั้งแต่การเก็บรวบรวม ใส่ตู้แช่ ไปจนถึงการหยิบออกมาชั่งน้ำหนักและแยกประเภท แล้วถึงค่อยนำอาหารขึ้นรถได้ ทุกนาทีที่หมุนไปในการนำอาหารจากจุดวางมายังตู้แช่เย็นในรถล้วนสำคัญและมีผลต่อคุณภาพของอาหาร
“ฟังเหมือนเป็นขั้นตอนที่ง่าย แต่พอได้เห็นประตูหลังของโรงแรมที่วุ่นวายมาก แล้วเราต้องหาช่องว่างในความวุ่นวายเหล่านั้นเพื่อขนย้ายอาหารมาที่รถให้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากไม่น้อย เราให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนกว่าจะได้รับอาหารมา เพื่อให้แน่ใจว่ากว่าจะถึงมือผู้บริโภค อาหารเหล่านั้นยังอยู่ในคุณภาพดี” ฝ้ายเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม และอธิบายต่อว่า
เมื่อได้รับอาหารมาแล้ว ทีมของมูลนิธิจะตรวจสอบอีกครั้งว่ามีอาหารไม่ผ่านคุณภาพปะปนมาหรือเปล่า “ปกติพวกเราจะไม่รับอาหารทะเล เพราะว่ามันเป็นของที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะเสีย ดังนั้น เราจะไม่เสี่ยงเพราะไม่มีทางรู้เลยว่าหลังจากสถานสงเคราะห์รับอาหารไปแล้วจะเก็บในตู้แช่ที่ได้มาตรฐานและคงอายุอาหารได้ตามที่ควรจะเป็นหรือเปล่า”
เมื่ออาหารส่วนเกินเดินทางไปถึงกลุ่มผู้รับบริจาคแล้ว จะต้องมีทีมที่คอยรับอาหารเหล่านี้และต้องตรวจคุณภาพครั้งที่ 3 ก่อนที่จะกระจายไปให้คนในชุมชนหรือในสถานสงเคราะห์นั้นๆ อย่างเป็นระเบียบ เพื่อคุณภาพสูงสุดของอาหารที่ผู้บริโภคจะได้รับ
ฝ้ายอธิบายว่า ที่มูลนิธิต้องตรวจสอบคุณภาพอาหารถึง 3 ครั้ง ก็เพื่อสร้างความสบายใจให้กับทั้งทางผู้บริจาคอาหารและผู้รับบริจาคอาหาร “ก่อนจะขอรับบริจาคอาหารพวกเราดูมาตรฐานของโรงแรม ภัตตาคาร และซูเปอร์มาเก็ต ด้วย ในสัญญาของเราระบุไว้ชัดเจนว่าขอให้ทางผู้บริจาคดูแลอาหารที่บริจาคเหมือนอาหารที่ดูแลลูกค้า”
“Food Rescue คือการสร้างระบบกระจายอาหารอาหารคุณภาพดีที่ยังสามารถกินได้ ออกไปให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องไม่ลืมว่าในอุตสาหกรรมเหล่านั้นยังมีเศษอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารเสื่อมสภาพและวัตถุดิบส่วนเกินจากกระบวนการผลิตที่กินไม่ได้อีกปริมาณมหาศาล คำถามและความท้าทายถัดมา คือเราจะทำอย่างไรกับขยะอาหารเหล่านั้น” บรูซอธิบาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ โครงการ Compost Program ซึ่งเป็นการนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวไร่
ระบบโลจิสติกส์ที่ใช้ในการขนส่งของ Compost Program ใกล้เคียง Food Rescue แต่ใช้รถคนละแบบ จากรถที่มีตู้แช่เย็นก็เปลี่ยนเป็นแค่รถกระบะทั่วไปแทน ในการตระเวนรับเศษอาหารหรือขยะอาหารจากโรงแรม ภัตตาคาร และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ
“รถกระบะ 1 คัน ตระเวนรับเศษอาหารจากโรงแรม 2 – 3 แห่งก็เต็มรถแล้ว เป็นข้อบ่งชี้ว่าปริมาณของอาหารส่วนเกินที่ยังกินได้ และเศษอาหารที่กินไม่ได้แล้ว มีสัดส่วนต่างกันเยอะ เศษอาหารมีปริมาณเยอะมาก เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าหนักใจให้ต้องไปช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต”
บรูซอธิบายว่า คนมักทิ้งอาหารไปทั้งที่มันยังคงมีคุณภาพดีอยู่หรือทิ้งก่อนที่จะมันจะกินไม่ได้จริงๆ เนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องการตีความค่าบนฉลากอย่าง Best Before กับ Expired By
“คำว่า Best Before หมายความว่าถ้าคุณทานอาหารตามเวลาที่กำหนดนี้มันจะคุณภาพดีที่สุด แต่เลยเวลานั้นไม่ได้หมายความว่ากินไม่ได้แล้ว อาจจะแค่คุณภาพไม่ถึง เนื้อไม่แน่น หรือมันอาจจะบดเป็นผงง่ายขึ้น ถ้าเป็น Expired By คือเลยวันที่กำหนดก็ห้ามกินแล้ว มักจะถูกใส่ไว้ในของที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะคุณภาพของผักและผลไม้มันไม่ได้อยู่ที่ป้าย มันอยู่ที่การรักษา แค่วางผิดอุณหภูมิอาหารก็สามารถเสียได้ก่อนเวลานั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม มันจะอยู่ได้นานกว่าป้ายนั้นไปเป็นอาทิตย์เลย”
เมื่อรับเศษอาหารตามโรงแรมแล้ว รถกระบะจะเดินทางลำเลียงไปยังพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ในโครงข่ายของมูลนิธิรักษณ์อาหาร ซึ่งประกอบไปด้วยรังสิต พระรามสอง บางกะเจ้า ไปจนถึงพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
“เศษอาหารเหล่านี้จะถูกนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์และอาหารสัตว์ ผู้บริจาคจะเก็บขยะอาหารหรือเศษอาหาร อย่างเปลือกผัก เปลือกผลไม้ ไว้ในห้องขยะแช่เย็น ซึ่งสะอาดและสามารถชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ พอนำออกมามันก็ยังสดอยู่ ทางมูลนิธิจึงสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้โดยตรง พวกสัตว์กินอาหารกันอย่างมีความสุข และมีสองถึงสามรุ่นแล้วที่โตมากับอาหารของพวกเรา” บรูซเล่าอย่างตื่นเต้น
นอกจากอาหารสัตว์ ยังมีปุ๋ยอินทรีย์ บรูซบอกว่า “พวกเราไปลงพื้นที่ ทำความรู้จักกับชาวเกษตรกรหลายแห่งซึ่งประสบปัญหาเรื่องคุณภาพดิน ยกตัวอย่างบางพื้นที่มีปัญหาดินเค็มซึ่งมักต้องแก้ด้วยการล้างดิน การล้างดินหมายถึงการใช้น้ำจืดจำนวนมากเพื่อล้างความเค็มออกไป แล้วใช้น้ำเท่าไหร่กว่าจะล้างความเค็มออกจากดินได้ ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ผืนดิน”
มูลนิธิรักษ์อาหารจึงชวนเกษตรกรมมาร่วมกันสร้างดินใหม่ วิธีนี้นอกจากจะเป็นการช่วยชาวเกษตรกรแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพดินแล้ว ยังเป็นการสร้างต้นทุนดินให้กับเกษตรกรมือใหม่ที่ต้องการเริ่มทำฟาร์มอีกด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่า ดินดีที่มีสารอาหารเปรียบเสมือนการสร้างต้นทุนที่ดีให้กับชาวเกษตรกร
ปุ๋ยอินทรีย์มีหลายสูตร ทีมงานของมูลนิธิรักษ์อาหารเดินทางขึ้นเหนือไปถึงแม่โจ้ เพื่อเรียนรู้การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร
“พวกเราเคยลองกันหลายอย่างมากไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยน้ำ จนไปถึงปุ๋ยไส้เดือน แต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อย่างปุ๋ยน้ำ ถ้าทำไม่ถูกกระบวนการ มันจะส่งกลิ่นเหม็นมาก ส่วนปุ๋ยไส้เดือน ถ้าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ไส้เดือนก็จะตาย
“สุดท้ายเราเลือกสูตรการทำปุ๋ยจากเศษอาหารที่สามารถสอนเกษตรกรให้ทดลองทำได้ง่ายที่สุด นั่นคือ ‘ปุ๋ยไม่กลับกองสูตรแม่โจ้’ ซึ่งเป็นสูตรที่ง่าย คือแค่กองเศษอาหารผสมผสานกับดินทิ้งไว้แล้วรอจนมันย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย แถมอุณหภูมิของประเทศไทยยังเหมาะกับการทำปุ๋ยประเภทนี้ที่ง่ายต่อการการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
“เราไม่ได้บังคับให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารแทนปุ๋ยเคมีนะ เพราะการบังคับมันไม่ยั่งยืน เมื่อเขาได้ทดลองทำและพิสูจน์ด้วยผลลัพธ์ของพืชผลในไร่ เขาก็รับรู้ได้เองว่ามันดีกว่ากันอย่างไร เกษตรกรหลายคนที่มาร่วมเป็นโครงข่ายกับเรา ตอนแรกๆ ก็ยังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง จนทุกวันนี้เขาติดอกติดใจและเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารถาวร”
การทำ ‘ปุ๋ยไม่กลับกองสูตรแม่โจ้’ เริ่มจากการเตรียมพื้นที่ 2 x 1.5 เมตร จากนั้นปู 1 ชั้น ด้วยฟางหรือไม่ก็ใบไม้ หรือที่เราเรียกว่าวัสดุคาร์บอน ประมาณ 10 เซนติเมตร ตามด้วยวัสดุอินทรีย์พวกเศษอาหารอีกหนึ่งชั้น ตามด้วยขี้วัวโรยพื้นผิว ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีการฉีดน้ำใส่เข้าไปด้วยให้มันชื้นแล้วก็ทำซ้ำ
จนมันกลายเป็นชั้นสูง 1.5 เมตร บรูซเสริมว่า “เคล็ดลับคืออย่ากดให้แน่น ให้มันหลวมในระดับหนึ่งเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก กองเศษอาหารนี้จะทำงานเหมือนเตาอบจุลินทรีย์ธรรมชาติ เราก็แค่ปล่อยให้มันรับแสงอาทิตย์แล้วมันก็สะสมอุณหภูมิตรงกลางของกองปุ๋ยไว้ ระยะเวลา 1 – 2 เดือนต่อมาเราจะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร”
นอกจากการให้ความรู้กับเกษตรกรแล้ว มูลนิธิรักษ์อาหารส่งเสริมให้ครัวเรือนจัดการกับเศษอาหารหรือขยะอาหารที่บ้านหรือคอนโดของตัวเอง “วิธีง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้คือการใช้กล่องทำปุ๋ยขนาดเล็ก ที่สามารถสร้างระบบการย่อยสลายในตัวเอง โดยเป็นกล่องปิดสนิท ไม่ต้องห่วงเรื่องปัญหาพวกแมลงหรือหนู เพราะมันจะไม่สามารถเข้าไปในกล่องได้ แค่สับเศษอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับวัสดุตั้งต้นง่ายๆ จากนั้นก็ใส่น้ำตาลเล็กน้อยถ้าอยากเร่งการย่อยสลาย ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย”
บรูซบอกว่า หลายปีที่ทำงานด้านนี้มาเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ “คนเห็นมูลค่าของขยะมากขึ้น เพราะรูปแบบการทำงานภาคธุรกิจมารองรับมูลค่าขยะเหล่านี้มีการกระจายให้เข้าถึงง่ายมาก อย่างออฟฟิศเก่าของมูลนิธิรักษ์อาหารที่เจริญกรุง 57 ซึ่งเป็นจุดรับซื้อและแยกขยะ ทุกวันผมเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกทุบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อเอาโลหะข้างในไปชั่งขาย เป็น Circular Economy แบบไทยๆ รูปแบบหนึ่ง”
การแยกขยะคือจุดเริ่มต้นสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอยที่คนทั่วไปมักมองข้าม การที่เราเทขยะอาหารปนไปกับขยะประเภทอื่นๆ ทำให้กระบวนการรีไซเคิลเพื่อยืดอายุการใช้งานวัสดุไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะปนเปื้อนไปด้วยเศษอาหารที่เน่าเสีย ถ้าเราแยกขยะตามประเภท ขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานได้ไม่รู้จบ ทั้งขวด กระป๋อง ไปจนถึงถุงพลาสติก
การสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมนับเป็นเรื่องยาก เพราะมันมักจะต้องมาพร้อมกับทางออก ซึ่งในตอนนี้มีทางออกสำหรับปัญหาขยะที่จำกัดมาก “เพื่อลดปัญหาอาหารส่วนเกินและขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง เราทุกคนต้อง ‘กินให้หมด ซื้อให้พอดี เก็บรักษาให้เป็น’ เพราะของที่ยังดีที่เหลือในซูเปอร์มาร์เก็ต พวกผมจะได้รับไปบริจาคให้คนอื่นต่อได้” บรูซกล่าวอย่างกระตือรือร้น
บรูซกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้มูลนิธิรักษ์อาหารสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ได้แล้ว 2 ข้อ คือข้อ 2 Zero Hunger หรือขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และข้อที่ 12 Sustainable Consumption and Production หรือการวางแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
1 เปอร์เซ็นต์ของอาหารส่วนเกินที่มูลนิธิรักษ์อาหารสามารถต่ออายุและส่งให้สังคม จะสามารถเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราทุกคนหันมาเริ่มต้นที่ตัวเอง ‘กินให้หมด ซื้อให้พอดี เก็บรักษาให้เป็น’ คนตัวเล็กหลายคนเริ่มทำสิ่งเล็กๆ มันจะขยายเป็นสิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อสังคมและโลกใบนี้
ที่มา : readthecloud.co [https://readthecloud.co/thai-sos/]