ทีมสำรวจและทำแผนที่ใต้ทะเลของออสเตรเลีย ค้นพบหอคอยปะการัง (coral tower) หรือกลุ่มปะการังที่ก่อตัวในแนวตั้งซึ่งมีความสูงยิ่งกว่าตึกระฟ้าหลายแห่งของโลก ตรงบริเวณด้านเหนือสุดของแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟ

.

หอคอยปะการังดังกล่าวมีความสูงถึง 500 เมตร ซึ่งสูงยิ่งกว่าตึกเอ็มไพร์สเตทในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ รวมทั้งตึกแฝดเปโตรนาสในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียอีกด้วย

.

การค้นพบหอคอยปะการังสูงลิบลิ่วแบบนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 120 ปี โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมนักวิจัยของสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute - SOI) ซึ่งกำลังใช้หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำทำแผนที่สามมิติบริเวณนอกชายฝั่งของแหลมยอร์ก (Cape York) ได้พบเข้ากับหอคอยปะการังดังกล่าวโดยบังเอิญ โดยนับเป็นกลุ่มปะการังแนวตั้งขนาดมหึมาแห่งที่ 8 ของโลก

.

หอคอยปะการังนี้มีส่วนฐานกว้าง 1.5 กิโลเมตร ยึดติดกับพื้นของก้นทะเลโดยตรง แต่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศแยกจากส่วนหลักของแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟที่รู้จักกันดี ส่วนตัวหอคอยมีรูปทรงคล้ายใบมีดและยอดสูงสุดอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำ 40 เมตร

.

ทีมวิจัยใช้หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ SuBastian ทำแผนที่สามมิติ จนได้พบเข้ากับหอคอยปะการังโดยบังเอิญ

.

เวนดี้ ชมิดต์ ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันมหาสมุทรชมิดต์บอกว่า "การค้นพบที่เหนือความคาดหมายในครั้งนี้ ช่วยยืนยันว่าเราจะยังคงค้นพบโครงสร้างใต้ทะเลแบบใหม่ ๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในมหาสมุทรได้อีก"

.

"สถานะขององค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ในมหาสมุทรของเราถูกจำกัดมานาน แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยเป็นหู ตา และมือให้กับเราในการทำงานใต้ทะเลลึก ขณะนี้เรามีศักยภาพในการสำรวจสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน"

.

ภาพจำลองภูมิประเทศใต้ทะเลบริเวณที่หอคอยปะการังตั้งอยู่

.

เกรทแบร์ริเออร์รีฟซึ่งมีความยาวถึง 2,300 กิโลเมตร ถือเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูง โดยมีปลากว่า 1,500 ชนิดพันธุ์ และปะการังแข็งอีกอย่างน้อย 411 ชนิดพันธุ์อาศัยอยู่

.

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกรทแบร์ริเออร์รีฟได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้ปะการังตายและสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างมาก

.

ผลการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารราชสมาคมกรุงลอนดอนฉบับบี (Proceedings of the Royal Society B) เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกรทแบร์ริเออร์รีฟต้องสูญเสียปะการังไปแล้วกว่า 50% นับแต่ปี 1995 เป็นต้นมา

.

ที่มา : BBC NEWs Thai https://www.bbc.com/thai/international-54733404