ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดจากทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์และการกีฬาของหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯและยุโรป ชี้ว่าการออกกำลังกายโดยใช้เวลาเพียง 30-40 นาทีต่อวัน จะช่วยชดเชยและแก้ไขผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานโดยเฉลี่ยถึงวันละ 10 ชั่วโมงได้

ผลวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารเวชศาสตร์การกีฬาของอังกฤษ (BJSM) ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าแม้การออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยหรือการยืนขึ้นเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถอย่างสม่ำเสมอในระหว่างวัน จะช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพจากการนั่งนานไปได้บ้าง แต่การออกกำลังกายโดยใช้แรงในระดับปานกลางนาน 40 นาที และการออกกำลังอย่างหนักหน่วงเป็นเวลา 30 นาที จะสามารถชดเชยผลเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากการนั่งนานถึงวันละ 10 ชั่วโมงไปได้อย่างแท้จริง

.

คำแนะนำดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ผลการทดลองที่ได้จากงานวิจัยในอดีต 9 ชิ้น ซึ่งการทดลองเหล่านี้มีอาสาสมัครที่เข้าร่วมถึง 44,370 คนจาก 4 ประเทศ โดยทั้งหมดสวมอุปกรณ์วัดสมรรถภาพร่างกายแบบใดแบบหนึ่งไว้กับตัว ขณะที่เข้ารับการทดสอบต่าง ๆ

.

ผลปรากฏว่าอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ซึ่งปกติจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีไลฟ์สไตล์แบบที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงนั้น กลับไม่เปลี่ยนแปลงในกรณีของคนที่ออกกำลังกายวันละ 30-40 นาที แม้คนผู้นั้นจะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานติดต่อกันเกือบทั้งวันก็ตาม

.

ทีมผู้วิจัยพบว่า อัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตของกลุ่มคนนั่งนานซึ่งออกกำลังกายในรูปแบบข้างต้น อยู่ในระดับต่ำเท่ากับของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตแบบเคลื่อนไหวออกแรงอยู่สม่ำเสมอเลยทีเดียว

.

ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอล สตามาทาคิส บรรณาธิการผู้หนึ่งของวารสาร BJSM บอกว่า การออกกำลังกายเพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพจากการนั่งนานนี้ อาจทำได้ในหลายรูปแบบ เช่นการเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การทำสวน หรือแม้แต่การเดินขึ้นลงบันไดให้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน

.

คำแนะนำจากการวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับแนวปฏิบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแนะให้คนทั่วไปออกกำลังโดยใช้แรงในระดับปานกลาง 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังอย่างหนักหน่วง 75-150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อชดเชยผลเสียจากพฤติกรรมเฉื่อยชาไม่ชอบเคลื่อนไหวออกแรงอย่างกระฉับกระเฉงของคนยุคใหม่

.

ที่มา : BBC News https://www.bbc.com/thai/features-55117507