เหตุการณ์กราดยิงสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นติด ๆ กันในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการครอบครองอาวุธปืน ในขณะที่อีกด้าน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California หรือ USC ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังทำการศึกษาอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้คนที่อยู่ในอาคารปลอดภัยจากความรุนแรงที่เกิดจากการยิงสังหาร
การออกแบบและพฤติกรรม
วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ที่ USC กำลังศึกษาการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality เพื่อช่วยในการออกแบบอาคาร “อัจฉริยะ” ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่อยู่ในอาคารต้องตกเป็นเหยื่อของมือปืนสังหารหมู่
พวกเขากำลังศึกษาดูนวัตกรรมใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น ตำแหน่งป้ายทางออก จำนวนจุดซ่อนตัว หรือการใช้ผนังอาคารที่เคลื่อนตัวได้
Gale Lucas นักวิจัยที่สถาบัน Creative Technologies ของ USC บอกว่าก่อนที่จะมาดูเรื่องการออกแบบอาคาร จะต้องศึกษาก่อนว่า ผู้อาศัยหรือคนทำงานในอาคารจะทำตัวอย่างไรเมื่อมีมือปืนบุกเข้ามา และพฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีการออกแบบตัวอาคารที่ต่างออกไป โดยใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนเข้าช่วย
Lucas บอกว่าในโลกความเป็นจริง การจะเปลี่ยนรูปแบบภายในอาคารทำได้ยาก แต่ในโลกความเป็นจริงเสมือน เธอสามารถเปลี่ยนรูปแบบอาคารอย่างไรก็ได้ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนได้อย่างปลอดภัยและเป็นไปตามหลักจริยธรรม
สิ่งที่อาจจะทำให้อาคารปลอดภัยมากขึ้น ประกอบด้วย จำนวนทางออก จุดซ่อนตัว และ การเลือกว่าจะใช้กระจกบานใสหรือบานขุ่นในตัวอาคาร
Burcin Becerik-Gerber ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับ Lucas บอกว่า ตอนนี้มีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและมีงบประมาณมากมาย
แต่เธอบอกว่าข้อแนะนำเหล่านี้ยังไม่ได้ผ่านการทดสอบในชีวิตจริงเพื่อดูว่าจะออกมาอย่างไร จึงต้องมีการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนมาใช้จำลองเหตุการณ์
ปลายปีนี้ อาคารโรงเรียนและอาคารสำนักงานบางแห่งจะถูกใช้เป็นสนามทดลอง โดยจะมีการนำครู และพนักงานกว่า 200 คนมาสวมหน้ากาก virtual reality และให้อยู่บนลู่วิ่ง เพื่อดูว่าหากพวกเขาต้องวิ่งหนีมือปืน พวกเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไร
อาคารอัจฉริยะที่ “ตรวจจับภัยได้”
Becerik-Gerber บอกว่ารูปแบบอาคารแบบใดแบบหนึ่งไม่สามารถแก้ทุกปัญหาได้ จึงควรจะออกแบบตัวอาคารให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence และเซ็นเซอร์มาช่วย
เธอยกตัวอย่างว่า ในกรณีที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่าตัวอาคารมีเสียงดังมากขึ้นและมีความโกลาหลอันเกิดจากการบุกเข้ามาของมือปืน ก็อาจจะมีการส่งสัญญาณให้กำแพงสามารถเคลื่อนเข้ามากักบริเวณมือปืนเอาไว้ หรือ เปลี่ยนให้กระจกใสให้เป็นสีขุ่น เพื่อพรางตัวผู้ที่อยู่ในอาคาร
อาคาร “อัจฉริยะ” ยังสามารถส่งสัญญาณดิจิตอลเพื่อชี้ทางออกที่ปลอดภัยที่สุดและห่างไกลจากต้นตอความรุนแรงอีกด้วย
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Southern California บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีอาคาร “อัจฉริยะ” ในอนาคตอันใกล้ เพราะเทคโนโลยีทีใช้ตรวจจับอันตรายและตอบสนองเพื่อปกป้องผู้ที่อยู่ในอาคารนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่สังคมจะต้องมีความสมัครใจที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในชีวิตจริง
ที่มา : Voice of America 19 สิงหาคม 2562 [https://www.voathai.com/a/intelligent-building-active-shooter-mass-shooting/5047094.html]