เอสซีจีชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ปลดล็อกขยะล้นโลก ร่วมพลังพันธมิตร แปลงขยะเพื่อสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่า

การขยายตัวของประชากรอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความต้องการด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งขยายกำลังการผลิตและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นั่นหมายความว่า จะมีขยะเพิ่มขึ้นจากการทิ้งที่มากขึ้น ส่งผลต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่สุดจะกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในไม่ช้าก็เร็ว
ข้อมูลจากรายงาน Global Resources Outlook 2019 ของ UNEP คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2015-2060 ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกใช้เพิ่มขึ้น 110% ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าลดลงกว่า 10% และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง เพราะจะเกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 43%
แต่ถ้าหากมีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรโลกได้ถึง 25% แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงถือเป็นทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นระบบที่เอื้อให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่า ด้วยการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก (Make-Use-Return) โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เมื่อเกิดโครงการขึ้นก็จะสร้างขยะจำนวนมหาศาลตามมา ผู้นำอุตสาหกรรมรวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆจึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เอสซีจีจึงเชื่อมั่นว่า การร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยในปีที่ผ่านมาก็ได้เชิญชวนเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับโลกให้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย ตลอดจนชวน พนักงานและชุมชนให้นำแนวคิดไปปรับใช้ตามแนวทาง SCG Circular way
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทุกอุตสาหกรรม โดยหวังให้เป็นต้นแบบของธุรกิจที่มีส่วนช่วยรักษาทรัพยากร และสามารถเผยแพร่แนวปฏิบัตินี้ไปยังพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งมีความร่วมมือที่เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้
มีการหมุนเวียนสู่วัสดุใหม่ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยได้ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจเพื่อร่วมทำโครงการต่างๆ เช่นโครงการสร้างถนนด้วยพลาสติกใช้แล้ว โครงการนำแกลลอนน้ำมันมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ หรือไม่ว่าจะเป็นลดการใช้ทรัพยากรผลิตใหม่ ลดขยะพลาสติก รวมไปถึงนำเศษคอนกรีตที่มีส่วนผสมของซีเมนต์มาใช้แทนหินในการก่อสร้างและแนวคิดลดของเสียตั้งแต่การออกแบบ
โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลนั้น เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีโดยนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสมแทนยางมะตอยเพื่อใช้ในการสร้างถนน ซึ่งในขณะนี้ทางเอสซีจีได้นำร่องไปแล้วในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี ในหมู่บ้านจัดสรร และบริเวณร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนี้ทางเอสซีจียังมีโครงการนำบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นถุงกระดาษสำหรับใช้แทนถุงพลาสติก ด้วยแนวคิด Circular Economy ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์กรีน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค
ท้ายที่สุดแล้ว เอสซีจีเล็งเห็นว่า หนทางสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาทรัพยากรขาดแคลน หรือโครงการนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนและภาครัฐ จึงมีแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนให้มีชุมชนต้นแบบจัดการขยะ รวมถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก มานำเสนอผ่านสัมมนา SD Symposium เพื่อนำไปสู่การระดมความคิด และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา โดยหวังว่าจะช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียน ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
เอสซีจีมีความมุ่งมั่นในการต่อยอดแนวคิด Circular Economy สู่การสร้างความร่วมมือและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับสากลและระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับก้าวต่อไปของการผลักดันแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจีจะมุ่งขยายความร่วมมือในการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลภาวะจากของเสีย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนในสังคม
ทั้งนี้ เอสซีจีจึงจะจัดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงและหาทางออกที่ดียิ่งขึ้นสำหรับการจัดการขยะของประเทศไทย ก่อนนำเสนอข้อสรุปดังกล่าวต่อคณะรัฐบาล ในงานสัมมนา SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action” วันที่ 26 สิงหาคม 2562 ผู้ที่สนใจสามารถติดตาม LIVE ได้ที่ Facebook Fanpage SCG (www.facebook.com/SCGofficialpage) หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://bit.ly/2Sui8Tu

ที่มา : Bangkokbiznews 26 สิงหาคม 2562  [https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1593]