สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 อย่างสมบูรณ์ ประกาศทิศทาง 10 ประเด็นนวัตกรรม สำหรับการดำเนินงานในทศวรรษหน้า

เพื่อเป็นเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมของประเทศอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมระดับโลก
               ​ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากความสำเร็จที่ NIA ได้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรมมาเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ส่งผลให้การกำหนดทิศทางการดำเนินงานในทศวรรษหน้าของ NIA มาจากจุดยืนในการสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานเชิงระบบ เพื่อให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System, NIS)
สอดรับกับโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่รัฐบาลได้ชูธงด้าน “นวัตกรรม” มีหมุดหมายของการวางกรอบแผนการดำเนินงานคือการสร้าง “ประเทศแห่งนวัตกรรม” (Innovation Nation) หรือการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศคือภาคธุรกิจและแรงงาน
  ดังนั้น ทิศทางการดำเนินงานในทศวรรษหน้า NIA จึงได้มุ่งเป้าในการพัฒนาและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อภาคธุรกิจและแรงงาน ประกอบด้วย “การสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม” (Innopreneurship & Innovation-based Enterprise) “งานแห่งนวัตกรรม” (Innovation Workforce) รวมถึง “การสร้างผู้ประกอบการภายในและผู้นำนวัตกรรม” (Intrapreneurship/Leadership) เพื่อสร้างบุคลากรและธุรกิจที่มีศักยภาพตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก
               ​โดยการสร้าง “นวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม” คือการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจและกิจการที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง และสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการวางฐานรากให้ภาคธุรกิจในประเทศสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
 ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดให้วิสาหกิจฐานนวัตกรรมได้มีการดำเนินงานอย่างมีศักยภาพ การเร่งพัฒนา “งานแห่งนวัตกรรม” หรือการพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อตอบสนองงานด้านตลาดนวัตกรรมจึงต้องทำควบคู่กันไป โดยทักษะที่เหมาะสมกับงานแห่งนวัตกรรม คือการที่บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งทักษะความเป็นผู้นำและทักษะทางเทคโนโลยี
  ซึ่งการเสริมสร้างทักษะดังกล่าวได้สอดคล้องกับการชูประเด็น “การสร้างผู้ประกอบการภายในและผู้นำนวัตกรรม” หรือการสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการนวัตกรรมในองค์กร เข้ามาเป็นอีกหนึ่งในทิศทางสำคัญของกรอบการทำงานของ NIA เพื่อมุ่งให้แรงงานและบุคลากรในแต่ละองค์กรมีมุมมองความคิด กล้าเสี่ยง มุ่งมั่น และมองหาความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับองค์กรเสมือนเป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจโดยรวมของประเทศ”
 ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีจะตรงกับวันนวัตกรรมแห่งชาติ NIA จึงมีการจัดกิจกรรมด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนตุลาคม ประกอบด้วย งาน Innovation Thailand Expo 2019 (ITE) วันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2562 ณ สามย่านมิตรทาวน์ งาน Innovation Summit วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรม Siam Kempinski Hotel Bangkok
               ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 150 ปี ไทย-ออสเตรีย วันที่ 6 – 17 ตุลาคม 2562 ณ นิทรรศรัตนโกสินทร์ ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างกรุงเวียนนาและกรุงเทพมหานคร
               โดยมีไฮไลท์หลักคืองาน Innovation Thailand Expo ที่มาในธีม Social Innovation in the City ซึ่งเป็นงานที่นำเสนอมุมมองนวัตกรรมผ่านนิทรรศการผลงานนวัตกรรมที่นำมาทั้งโชว์และจำหน่าย การเสวนา และกิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/NIAThailand” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

ที่มา : Komchadluek online 3 กันยายน 2562 [http://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/386729]