ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มจ่าย “ยากัญชา” แล้ว ทั้งทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยมีทั้งสารสกัดกัญชา ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และยาแผนไทย คือ ตำรับศุขไสยาศน์ และจะมีตำรับอื่นๆ ทยอยออกมาอีกจำนวนมาก รวมถึงสูตรยากัญชาของหมอพื้นบ้าน ซึ่งการขึ้นชื่อว่าเป็น “ยา” จะต้องมีความปลอดภัย ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จในขั้นสุดท้าย

การจะบอกว่ายากัญชามีความปลอดภัย มีค่าความเข้มข้นของสารสำคัญต่างๆ เป็นไปตามที่ผลิตไว้หรือไม่ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งหลักๆ ที่มีการส่งกัญชามาตรวจนั้น พบว่า มีทั้งการตรวจการปนเปื้อนในกัญชาแห้งของกลาง ที่จะนำมาผลิตสารสกัดหรือยา การตรวจปริมาณสารสำคัญของสารสกัดกัญชา รวมไปถึงตรวจสารปนเปื้อนหรือความเป็นพิษของสารสกัดกัญชาหรือยากัญชาที่ผลิตออกมาแล้ว
ในส่วนของการตรวจการปนเปื้อนหรือสารพิษต่างๆ นั้น นายสุพัฒน์ แสงสวย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจความปลอดภัยว่า การตรวจการปนเปื้อนในกัญชา หลักๆ ที่ตรวจจะมีสารโลหะหนัก 4 ชนิด คือ 1.สารหนู ซึ่งค่ามาตรฐานต้องปนเปื้อนไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) 2.สารปรอท ต้องไม่เกิน 0.5 มก./กก. 3.สารตะกั่ว ต้องไม่เกิน 10 มก./กก. และ 4.แคดเมียม ต้องไม่เกิน 0.3 มก./กก. ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกัญชาของกลาง วัตถุดิบ หรือสารสกัดที่ผลิตแล้ว จะใช้วิธีในการตรวจเหมือนกัน คือ จะนำตัวอย่างที่ได้รับมาย่อยสลาย เพื่อปรับปริมาตรด้วยกรดไนตริกแบบซูเปอร์เพียว ในหลอดที่เรียกว่า “Cuatztube” ซึ่งเป็นหลอดแก้วคุณภาพดี
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ปริมาณตัวอย่างในการใช้ตรวจนั้น ขึ้นกับเครื่องมือในการตรวจว่ามีความไวมากน้อยแค่ไหน หากไวธรรมดา ก็จะใช้กัญชาแห้ง 1 กรัม ส่วนกัญชาพืชสดจะใช้ 4-5 กรัม ส่วนสารสกัดจะใช้ประมาณ 0.5 กรัม แต่หากเครื่องมีความไวสูง ก็อาจใช้กัญชาประเภทต่างๆ เพียง 0.5 กรัมก็พอ การย่อยสลายตัวอย่างจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปวางไว้ในที่ยึดหลอด แล้วนำเข้าเครื่องไมโครเวฟ ซึ่งคลื่นไมโครเวฟที่ใช้จะสูงกว่าไมโครเวฟตามบ้านเรือนที่ใช้กันมาก โดยกระบวนการนี้จะเป็นการเผาไหม้ด้วยความร้อนและกรด เพราะสารโลหะหนักพวกนี้จะเผาธรรมดาไม่ได้ มิเช่นนั้นต้องใช้เวลาเป็นวัน แต่การเผาไหม้ด้วยกรดตะช่วยลดระยะเวลาลงเหลือเพียงครึ่งวัน ซึ่งหากตัวอย่างมีสารโลหะหนักพวกนี้ก็จะละลายปนออกมา
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากเผาด้วยเครื่องไมโครเวฟเสร็จสิ้น ก็จะเทสารที่ได้ลงในขวดแก้วที่เรียกว่า “Volumntric Flask” เพื่อปรับปริมาตรต่างๆ ตามกระบวนการ จากนั้นจึงเทใส่หลอดที่เรียกว่า “High Density Polyethilene” เพื่อเอาเข้าเครื่องวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุ เพื่อตรวจวิเคราะห์ดูว่ามีสารโลหะหนักต่างๆ ปนเปื้อนหรือไม่ ซึ่งใช้เครื่องที่เรียกเทคนิคในการตรวจว่า ICP-MS โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีต่อตัวอย่างก็วัดเสร็จ จากนั้นจึงส่งผลกลับไปยังผู้ยื่นส่งตรวจ
ส่วนการตรวจความเข้มข้นของสารสกัดกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาว่า มีสัดส่วนเป็นไปตามที่ผลิตหรือไม่นั้น ภญ.บงกช พันธ์บูรณานนท์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า หลักการตรวจหาความเข้มข้นของสารสกัดกัญชา ทั้งซีบีดีและทีเอชซีนั้น จะเป็นการนำตัวอย่างมาเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน แล้วนำเข้าเครื่องวิเคราะห์ออกมาว่า มีความเข้มข้นเท่าไร เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องการหรือไม่ ซึ่งกระบวนการแต่ละขั้นตอนก็ค่อนข้างใช้เวลา
ภญ.บงกช กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการ จะเริ่มจากการเตรียมตัวอย่าง เนื่องจากสารสกัดตัวอย่างจะเป็นของเหลวเหนียวๆ ไม่สามารถฉีดเข้าเครื่องเพื่อตรวจวิเคราะห์สารสำคัญได้ จึงต้องนำมาเจือจางปรับสภาวะ จนได้สารละลายใส เช่นเดียวกับสารมาตรฐานซีบีดีหรือทีเอชซี ที่เป็นของแข็งก็ต้องนำมาเป้นสารละลายใสเช่นกัน ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่าการเตรียมตัวอย่างและสารมาตรฐาน โดยจะต้องเตรียมให้มีค่าความเข้มข้นใกล้เคียงกัน
ภญ.บงกช กล่าวว่า หลังจากได้สารละลายใสก็จะฉีดเข้าเครื่องตรวจ ซึ่งเครื่องจะใช้เวลาในการประมวลผลและวัดค่าความเข้มข้นของสารสำคัญ ทั้งทีเอชซีและซีบีดีออกมา ว่ามีความเข้มข้นกี่เปอร์เซ็นต์ และเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน ซึ่งเรียกว่าใช้หลักการโครมาโทกราฟี โดยจะมีการทำซ้ำเอกับบีเพื่อตรวจเช็กกันและกัน ถ้าผลไม่ชัดเจนถึงต้องมีการตรวจเช็กซ้ำอีกครั้ง โดยตัวอย่างที่จะนำมาตรวจนั้นปกติจะได้มาประมาณ 50 กรัม แต่จำนวนตัวอย่างจะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าผู้ส่งตรวจจะตรวจกี่หัวข้อมากน้อยเยงใด หากตรวจเรื่องความเป็นพิษสารปนเปื้อนด้วยก็จะใช้มากขึ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นอกจากการตรวจเรื่องสารปนเปื้อน ตรวจสารสกัดแล้ว แล็บยังสามารถตรวจวิเคราะห์คนไข้ฉุกเฉินว่าเกิดจากพิษกัญชาหรือไม่ ซึ่งกรมได้จัดตั้งศูนย์ประสานการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน และกำหนดมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบ สารสกัด ยาจากกัญชา ให้การอบรมและคำปรึกษาแก่ห้องปฏิบัติการอื่นๆ ขณะนี้ในส่วนกลางสามารถทำได้แล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการฯ ในส่วนภูมิภาคมีแผนจะเปิดภายใน ต.ค.นี้ เริ่มที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่, ศูนย์วิทย์ฯ ที่ 6 ชลบุรี, ศูนย์วิทย์ที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์วิทย์ฯ ที่ 12 สงขลา

ที่มา : Manager online 10 กันยายน 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000086829]