ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน BBIBP-CorV ของบริษัทซิโนฟาร์ม ต่อเชื้อโคโรนาไวรัสที่กลายพันธุ์ ระบุว่า วัคซีนสูตรนี้กระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ต่ำกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

.
ผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรดังกล่าวมีระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลง 1.38 เท่า เมื่อเทียบกับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์เดิมที่พบเป็นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการต่อตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากชาวศรีลังกา
.
ผลการศึกษาดังกล่าวจัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีชยวรรธนปุระ สภาเทศบาลกรุงโคลัมโบของศรีลังกา และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ผลการศึกษานี้เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ และยังไม่ได้รับการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว
.
เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกพบครั้งแรกที่อินเดียเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งในอังกฤษ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ไวรัสสายพันธุ์นี้ระบาดในประเทศกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
.
นอกจากนี้ วัคซีนของซิโนฟาร์มยังทำให้เกิดแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์เบตาลดลงสิบเท่า โดยไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวถูกพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้
.
ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า เซรั่มเลือดของผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มและเซรั่มเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยยังไม่ได้รับวัคซีน มีระดับแอนติบอดีต่อไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่า วัคซีนซิโนฟาร์มอาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของแอนติบอดีต่อไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในระดับเดียวกับที่การติดเชื้อโดยธรรมชาติกระตุ้นได้
.
ทั้งนี้ วัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดสองโดส และเป็นหนึ่งในวัคซีนสูตรที่ใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในจีน นอกจากนี้ บริษัทซิโนฟาร์มยังตกลงมอบวัคซีนไม่เกิน 170 ล้านโดสให้แก่โครงการโคแวกซ์จนถึงกลางปีหน้าด้วย
.
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์) https://www.voathai.com/a/sinopharm-covid19-shot-induces-weaker-antibody-responses-delta-coronavirus-vaccine/5974173.html