3 นักวิทยาศาสตร์ จากสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปีนี้ จากการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ขุมพลังพกพาได้ที่พลิกโฉมวงการแบตเตอรี่ของมวลมนุษยชาติ
คณะกรรมการโนเบลประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีให้กับนายจอห์น บี. กูดดินัฟ จากมหาวิทยาลัย University of Texas นายเอ็ม. สแตนลีย์ วิตติงแฮม จาก State University of New York ใน Binghamton และนายอากิระ โยชิโนะ จากบริษัทอาซาฮี คาเซอิ คอร์เปอเรชัน และมหาวิทยาลัยเมย์โจ ในญี่ปุ่น จากคุณูปการในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่สามารถชาร์จไฟได้หลายครั้ง
ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบล ระบุว่า การคิดค้นแบตเตอรีลิเธียมไอออนได้ปฏิวัติวิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติ และนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ได้วางรากฐานของโลกไร้สายและสังคมที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีต้นกำเนิดในช่วงวิกฤตน้ำมันในคริสตทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่นายวิตติงแฮมได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมา ส่วนนายกูดดินัฟ ได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น กักเก็บพลังงานได้มากขึ้นถึงเท่าตัว และทนทานขึ้นกว่าเดิม 23 เท่า ส่วนนายโยชิโนะ เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ปลอดภัยขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เหรียญทองคำเชิดชูเกียรติ และแบ่งรางวัลเงินสด 9 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 27.5 ล้านบาทเท่าๆกัน
ส่วนรางวัลโนเบลสาขาที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ สาขาวรรณกรรมในวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งปีก่อนยกเลิกการประกาศรางวัลในสาขาดังกล่าว หลังจากตกเป็นประเด็นอื้อฉาวว่าหนึ่งในผู้มีอิทธิพลต่อการพิจารณารางวัลโนเบล พัวพันในประเด็นการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม เป็นการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม จะเป็นการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นรางวัลสุดท้าย
ที่มา : Voice of America 10 ตุลาคม 2562 [https://www.voathai.com/a/nobel-chemistry-10092019/5117217.html]