นักวิทยาศาสตร์สร้าง “บิ๊กแบง” ขนาดย่อมในห้องทดลองได้โดยบังเอิญ – BBCไทย

การระเบิดขยายตัวครั้งใหญ่หรือ “บิ๊กแบง” (Big Bang) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นจุดกำเนิดของจักรวาลนั้น แม้ในทางทฤษฎีน่าจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกลและอากาศยานของสหรัฐฯ กลับค้นพบกลไกที่ทำให้เกิดการระเบิดขยายตัวแบบเดียวกันได้ในระดับย่อม ๆ โดยบังเอิญ ระหว่างที่ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนทรัลฟลอริดา (UCF) นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คารีม อาเหม็ด กำลังทดลองหาวิธีสร้างแรงขับดันด้วยไอพ่นความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic jet propulsion) ในท่อขนาดเล็กที่ควบคุมการกระแทกปั่นป่วนของอากาศได้
แต่ในขณะที่ปรับเปลี่ยนค่าความปั่นป่วนของกระแสอากาศซึ่งเป็นเงื่อนไขของการทดลองอยู่นั้นเอง พวกเขาพบว่าเปลวเพลิงจากเครื่องยนต์ที่เดิมลุกไหม้อย่างคงที่แบบเปลวเทียน กลับเกิดความแปรปรวนและเร่งปฏิกิริยาภายในตัวเองขึ้นได้อย่างฉับพลัน จนนำไปสู่การระเบิดรุนแรงในที่สุด
ดร. อาเหม็ดกล่าวในรายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ว่า “การระเบิดในลักษณะนี้มีหลักการพื้นฐานไม่ต่างไปจากซูเปอร์โนวา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย โดยเราสามารถใช้ความปั่นป่วนเร่งให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ เกิดขึ้น จนกลายเป็นการระเบิดที่รุนแรงในระดับมัค 5 หรือมีความเร็วเหนือเสียงถึง 5 เท่า ได้”
“เมื่อเราศึกษาลึกลงไปอีกก็พบว่า การระเบิดแบบซูเปอร์โนวาที่เราสร้างขึ้นโดยบังเอิญนั้น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการระเบิดขยายตัวครั้งใหญ่ของเอกภพหรือบิ๊กแบงด้วย โดยกลไกที่นำไปสู่การระเบิดทั้งสองแบบนั้นคล้ายคลึงกัน”
การค้นพบโดยบังเอิญในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและการเดินทางในอวกาศ โดยอาจจะใช้หลักการระเบิดแบบพิเศษสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่ทรงพลังได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาของเอกภพและเหตุการณ์บิ๊กแบง รวมทั้งช่วงเวลาที่อาจดำรงอยู่ก่อนการเกิดบิ๊กแบงได้อีกด้วย

ที่มา : Khaosod online 5 พฤศจิกายน 2562  [https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3030268]