ต้นตำแยแมวหรือที่บางคนเรียกว่ากัญชาแมว นอกจากจะทำให้บรรดาน้องเหมียวเคลิบเคลิ้ม เกิดความรู้สึก "ฟิน" จนต้องลงไปนอนกลิ้งเกลือกถูไถสมุนไพรต้นโปรดอย่างสำราญใจแล้ว การที่แมวกัด เลีย และสัมผัสกับต้นตำแยแมวที่ถูกบดขยี้จนช้ำหรือฉีกขาด ยังเป็นเหมือนกับการทาโลชั่นกันยุงและไล่แมลงให้ตัวมันเองอีกด้วย

.

ดร. มาซาโอะ มิยาซากิ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิวาเตะของญี่ปุ่น ผู้ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับกลไกทางเคมีของตำแยแมวที่ส่งผลต่อบรรดาเหมียว ๆ มานานหลายปี ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นล่าสุดในวารสาร iScience โดยพบว่าพฤติกรรมของแมวที่มักขบเคี้ยว เลีย และถ่มเอากากต้นตำแยแมวออกมาโดยแทบไม่กลืนลงคอไปเลยนั้น ทำให้ความเข้มข้นของสาร nepetalactone / nepetalactol ที่มีคุณสมบัติทำให้เคลิ้มและไล่แมลง เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเท่า

.

มีการทดลองใช้ต้นตำแยแมวหรือแคทนิป (Nepeta cataria) รวมทั้งต้นตำแยแมวญี่ปุ่นหรือมาทาทาบิ (Actinidia polygama) ซึ่งฝรั่งเรียกว่าต้นซิลเวอร์ไวน์ (silver vine) มาให้แมว 8 ตัวฉีกทึ้ง จากนั้นวัดระดับความเข้มข้นของสาร nepetalactone / nepetalactol ที่ระเหยออกมาในแต่ละครั้ง โดยเปรียบเทียบกับผลจากการใช้มือมนุษย์ฉีกและขยำขยี้ด้วย

.

แมวนอนเกลือกกลิ้งทับต้นตำแยแมวบนพื้นในการทดลอง

ผลปรากฏว่าต้นตำแยแมวที่ปลูกในฟาร์ม ปลดปล่อยสาร nepetalactone รวมทั้งสารเคมีจำพวกอิริดอยด์ (iridoids) ชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้แมวเคลิ้มออกมามากขึ้น 20 เท่า หลังจากฉีกขาดไปด้วยฝีมือแมว ส่วนต้นมาทาทาบิที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่านั้น มีสาร nepetalactol ระเหยออกมาในอากาศเพิ่มขึ้น 10 เท่า หลังจากโดนแมวทึ้ง แต่กลับปลดปล่อยสารดังกล่าวออกมามากกว่าเดิมถึง 40 เท่า หากมนุษย์นำไปสับหรือหั่นให้ละเอียด

.

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างต้นตำแยแมวทั้งสองชนิด ต้นแคทนิปให้สารระเหยที่แมวต้องการสูงกว่าต้นมาทาทาบิ 40 เท่า แต่ต้นมาทาทาบิให้สารจำพวกอิริดอยด์ได้หลากหลายชนิดมากกว่า

.

นอกจากนี้ สารระเหยจากต้นตำแยแมวทั้งสองชนิดยังมีประสิทธิภาพพอกันในการไล่ยุงลายสวน (Asian tiger mosquito) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุงตัวเมียอายุน้อยในห้องทดลอง โดยพวกมันจะไม่เข้ามาเฉียดใกล้แมวที่สัมผัสถูไถกับต้นตำแยแมวเลย รวมทั้งไม่มากัดแขนและมือของนักวิจัยที่ฉีกใบตำแยแมวด้วย

.

ผลวิจัยดังกล่าวทำให้ ดร. มิยาซากิ เตรียมพัฒนาสารสกัดจากต้นตำแยแมว เพื่อใช้เป็นยากันแมลงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสำหรับมนุษย์ โดยสามารถใช้ไล่ยุง แมลงวัน แมลงสาบ และตัวไร แต่น่าเสียดายที่สารเคมีดังกล่าวไม่สามารถทำให้คนหรือสัตว์ชนิดอื่นนอกจากสัตว์ตระกูลแมวและเสือเคลิบเคลิ้มได้

.

เมื่อปีที่แล้ว ดร.มิยาซากิค้นพบว่า สารจำพวกอิริดอยด์ในตำแยแมวทำให้ระดับฮอร์โมนเบตาเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารสร้างความสุขในตัวแมวเพิ่มสูงขึ้น โดยฮอร์โมนนี้จะไปจับกับตัวรับโอปิออยด์ในระบบประสาท ทำให้เกิดภาวะเคลิบเคลิ้มคล้ายเมายาเสพติดได้ ซึ่งจัดว่าเป็นประโยชน์ต่อสัตว์จำพวกแมวและเสือที่ต้องซุ่มจับเหยื่อในสุมทุมพุ่มไม้เป็นเวลานาน โดยตำแยแมวจะช่วยไล่แมลงรบกวน และทำให้แมวอดทนสงบนิ่งระหว่างการล่าได้ดี

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/features-61856177