แห่งแรกในไทย!! คณะแพทย์รามาฯ หันใช้ "เครื่องอัลตราซาวนด์พกพา" สอน นศ.แพทย์ เรียนรู้กายวิภาค สรีระ พยาธิสภาพ นำไปใช้ตรวจรักษาได้ จัดสรร 2 คนต่อเครื่อง เริ่มปีการศึกษานี้ เผยได้รับมอบ 200 เครื่องจาก "กัลฟ์ เอเนอร์จี" รวมกว่า 12 ล้านบาท ช่วยนศ.เข้าถึงการเรียนอัลตราซาวนด์มากขึ้นในระดับบุคคล แทนการเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ผ่านเครื่องขนาดยักษ์
วันนี้ (8 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 910A-B อาารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานแถลงข่าวนวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์ "Ultrasound พกพาชนิดไร้สายสำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล" และพิธีรับมอบเงินบริจาคเพื่อซื้อเครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สาย (Wireless) โดยนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) และนางนลินี รัตนาวะดี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิพลังงานไทย ร่วมกันมอบเงินจำนวน 12 ล้านบาท ผ่าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการซื้อเครื่องอัลตราซาวนด์พกพา
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะอาศัยการดูฟังเคาะคลำ รวมถึงสเตโทสโคปในการฟัง แต่ปัจจุบันมีความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เห็นภาพใต้ผิวหนังเข้าไปในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ หัวใจ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องมือในการตรวจเหล่านี้มีขนาดใหญ่และต้องทำในศูนย์อัลตราซาวนด์เท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดทำให้เครื่องมือเหล่านี้มีขนาดเล็กลง สามารถพกพาได้ แล้วสามารถเชื่อมต่อภาพผ่านทางบลูธูทมาออกหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตต่างๆ จึงไม่ต้องใช้จอหรือเครื่องมือขนาดใหญ่อีกต่อไป ส่งผลให้มีประโยชน์อย่างมากในการใช้ตรวจวินิจฉัยเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ที่จะช่วยลดโอกาสผิดพลาดลงได้ งานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินจึงมีการนำเครื่องมือเช่นนี้มาใช้ ดังนั้น การเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือทันสมัยเหล่านี้ จึงมีดำริที่ให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เพื่อผนวกการเรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์กับภาพที่เห็นจากเครื่องมือที่สร้างภาพแนวใหม่ คือ เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สาย เช่น เมื่อเรียนสรีระวิทยา การปั๊มหัวใจ การเปิดปิดหัวใจ พยาธิสภาพต่างๆ ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ไปดูหัวใจเพื่อนด้วยกันเอง และเข้าใจถึงสรีระวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ได้ดีขึ้น ทักษะเหล่านี้ก็จะต่อเนื่องไปจนถึงตอนที่เป็นแพทย์ ก็สามารถใช้เครื่องมือพกพาได้ดีขึ้น แต่เรื่องของการตรวจร่างกายพื้นฐานก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ แต่จะมีเครื่องมือเหล่านี้ทำให้มีความแม่นยำถูกต้องมากขึ้น
"อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งหัวใจ ช่องท้อง ช่องปอด หรือเวลามีภาวะฉุกเฉิน เครื่องมือจะสามารถตรวจให้เห็นภาวะเลือดคั่งในตำแหน่งต่างๆ หรือกรณีเกิดความผิดปกติของตัวอวัยวะภายใน หรือดูบริเวณคอให้เห็นไทรอยด์ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ได้ ซึ่งวันนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้รับมอบเครื่องอัลตราซาวนด์จากทางบริษัทกัลฟ์ฯ จำนวน 200 เครื่อง จำนวนเงิน 12 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรให้แก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-3 ในการนำมาใช้ประกอบการเรียนด้านปรีคลินิก โดยช่วงทดลองนี้จะให้นักศึกษา 2 คนมีเครื่องนี้ 1 เครื่อง ในการใช้เรียนรู้ร่วมกัน แต่สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ก็จะให้ใช้คนละเครื่อง เพื่อฝึกใช้และเรียนรู้ในการตรวจรักษาคนไข้และเรียนรู้ข้อบกพร่องของเครื่องมือ โอกาสที่จะใช้แล้ววินิจฉัยผิดพลาดต่างๆ ก่อนที่จะมีการออกไปใช้จริง ซึ่งในอนาคตหากมีความจำเป็นก็สามารถหามาเพิ่มเติมได้ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จะถือว่าเป็นแห่งแรกที่นำเครื่องมือนี้เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์" ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ส่วนเครื่องอัลตราซาวนด์พกพาต้องยอมรับว่า ความละเอียดหรือการดูแรงดันของเลือดต่างๆ อาจจะสู้เครื่องใหญ่ไม่ได้ แต่เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดคุณภาพดีขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งก็สามารถเริ่มนำมาใช้ในการเรียนได้ในทันที ส่วนเรื่องข้อกังวลที่ว่า แพทย์เน้นการใช้เครื่องมือทันสมัยเหล่านี้มากเกิน หากขาดอุปกรณ์แล้วจะวินิจฉัยได้ตามวิธีปกติที่ทำๆ มาหรือไม่นั้น ขอให้ไม่ต้องกังวล เพราะการเรียนการสอนเราก็ยังเน้นการตรวจร่างกายพื้นฐาน การดูคลำเคาะฟัง ใช้สเตโทสโคปสมบูรณ์เหมือนเดิม แต่เครื่องมือนี้จะเข้ามาเสริมในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มีความแม่นยำมากขึ้น
นายสารัชถ์ กล่าวว่า หลังจากได้ฟังทางรพ.รามาธิบดี นำเสนอเรื่องขอบริจาคเครื่องมือ พอฟังแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก โดยใช้เวลาในการหารือกันไม่ถึง 5 นาที ก็ตอบรับเลย ไม่มีปฏิเสธ เพราะเรื่องการช่วยเหลือสังคมทางกัลฟ์ก็ทำใน 2 ส่วนอยู่แล้ว คือ ด้านการศึกษา และเครื่องมือแพทย์ ที่ผ่านมาเราก็มีการบริจาคเครื่องมือแพทย์ให้แก่รพ.รัฐหลายแห่ง ซึ่งเครื่องอัลตราซาวนด์พกพาแบบไร้สายนี้ก็เป็นทั้งเรื่องของการศึกษาและเครื่องมือแพทย์ด้วย ถือว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่จะได้รับเครื่องนี้ไปดูไปฝึก ทำให้มีความชำนาญตั้งแต่เด็กๆ หรือตั้งแต่เรียนปี 2 ก็จะไปช่วยพัฒนารุ่นต่อๆ ไป รักษาคนไข้ห้องฉุกเฉินมีโอกาสมีชีวิตรอดมากขึ้น ซึ่งตนเคยไปสูงานด้านไบโอเทคและเมดิเทคหลายแห่งในต่างประเทศ แนวโน้มก็พัฒนาไปสู่ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น อย่างเรื่องของการเอกซเรย์และการทำเอ็มอาร์ไอ ก็มีการใช้เอไอมากขึ้น สามารถบอกความผิดปกติของร่างกายในส่วนอื่นนอกจากส่วนที่เราตั้งใจทำการสแกน และคอมพิวเตอร์ก็สามารถบอกข้อมูลเราได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งอ่าน ดังนั้น จึงคิดว่า รพ.รามาธิบดี ค่อนข้างนำสถาบันอื่นๆ ที่นำเทคนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอน
รศ.นพ.สิทธิ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อก่อนการเรียนอัลตราซาวนด์จะเรียนในชั้นคลินิก คือ ปี 4-6 เพราะเครื่องอัลตราซาวนด์มีขนาดใหญ่ ทำให้นำมาสอนการใช้ลำบาก และต้องเรียนกันเป็นกลุม่มใหญ่ แต่ช่วงหลังเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากเครื่องที่มีขนาดใหญ่โตและราคาแพง ก้มีขนาดเล็กลงที่สามารถพกพาได้ทำให้นำมาใช้ในระดับบุคคลได้มากขึ้น จึงนำมาใช้ในการสอนช่วงปรีคลินิก หรือชั้นปีที่ 2-3 ด้วย ทำให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนการสอนการใช้อัลตราซาวนด์ได้มากขึ้น และคาดหวังว่า เครื่องมือนี้จะกระตุ้นให้นักศึกษาอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม นำเครื่องมือนี้ไปเรียนร่วมกับกายวิภาคศาสตร์ สรีระวิทยาและพยาธิสภาพ เชื่อมโยงชั้นปรีคลินิกไปคลินิกได้ และอยากจะไปหาความรุ้เพิ่มเติมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอนาคต ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษานี้
รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ห้องฉุกเฉิน รพ.มีการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ในการตรวจวินิจฉัย แต่เมื่อเครื่องอัลตราซาวนด์มีขนาดเล็กลง พกพาได้ ตรงนี้มีประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้วินิจฉัยผู้ป่วยตั้งแต่ที่เกิดเหตุ หรือบนรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้ตรวจวินิจฉัยและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้เห็นพยาธิสภาพความเป็นจริง สามารถกล้าวินิจฉัยตัดสินใจได้มากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนการวินิจฉัยที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมไปถึงอาจเลือกรพ.ที่มีความเหมาะสมกับอาการหรือภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยมากขึ้น เพราะหากไม่รู้และไปส่ง รพ.ที่ศักยภาพอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือภาวะนั้นของผู้ป่วย ก็ต้องเสียเวลาในการส่งต่ออีก เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาจึงเป็นประโยชน์มากต่อบุคลากรฉุกเฉินหรือ Paramedic ในการเป็นดวงตาคู่ที่สองในการช่วยตรวจวินิจฉัย และการนำมาใช้ให้นักศึกษาเรียน รพ.รามาธิบดีจึงเป็นที่แรกของประเทศไทย และเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้สถาบันการศึกษาอื่นนำมาใช้ในการเรียนหรือนำมาใช้ตรวจมากยิ่งขึ้น
ที่มา : Manager online 8 พฤศจิกายน 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000107338]