เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จับมือวงษ์พาณิชย์และชุมชนตำบลบ้านหลวง นำร่องให้ความรู้เรื่องแยกขยะส่งขายต่อ สร้างรายได้ชุมชน จัดตลาดนัดขยะชุมชน ในชุมชนที่อาศัยริมคลองขนมจีน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยการส่งเสริมคัดแยกแลกขยะเป็นเงิน ที่จะช่วยลดของเสียลงแหล่งน้ำ รักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน
.
“ตลาดนัดขยะชุมชน” เป็นกิจกรรมต่อยอดจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ (Youth Water Guardian) ที่เนสท์เล่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และยังเป็นหนึ่งในแผนงานของเนสท์เล่เพื่อไปสู่เป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050
.
จุดเริ่มต้นของตลาดนัดขยะชุมชน มาจากข้อสังเกตที่ได้ระหว่างการล่องเรือเพื่อเก็บขยะในคลองขนมจีนของโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำว่ายังคงมีขยะในคลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ การดูแลจัดการขยะเพื่อไม่ให้ทำลายสมดุลธรรมชาติจึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนควรตระหนัก โดยเฉพาะชุมชนที่มีความผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนานอย่างชุมชนบริเวณโรงเรียนจรัสวิทยาคาร ต.บ้านหลวง อ.เสนา ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของตลาดนัดขยะชุมชน กิจกรรมเพื่อการดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนที่เนสท์เล่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรก
.
ตอกย้ำพันธกิจองค์กรสู่ความยั่งยืน Net Zero ในปี 2050
จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของทีมงานเนสท์เล่ ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำดื่มเนสท์เล่เพียวไลฟ์และน้ำแร่มิเนเร่ ภายใต้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด พร้อมทั้งนำปัญหาการจัดการขยะมาพูดคุยกับผู้นำชุมชน จนต่อยอดกลายเป็น “กิจกรรมตลาดนัดขยะชุมชน” ย่อมถือว่าเป็นกลไก
.
นางสาวนาริฐา วิบูลยเสข ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม เปิดเผยว่า เนสท์เล่มีพันธกิจด้านความยั่งยืนไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หนึ่งในแผนงานที่เป็นรูปธรรม คือการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อปกป้องและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กับคนรุ่นต่อไป เกิดเป็นโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ โดยตลอด 7 ปีที่ลงมือทำโครงการนี้อย่างจริงจัง ผ่านความร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม
.
“เราพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียคือขยะที่หลุดลอยลงสู่แหล่งน้ำ ดังนั้นการจัดการขยะอย่างยั่งยืนจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางที่ืทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เราจึงจัดอบรมให้ชาวบ้านได้รับความรู้ว่าขยะมีค่า และได้รับประสบการณ์จริงด้วยการจัดตลาดนัดขยะให้เกิดการซื้อขายจริง ผ่านความร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะและเป็นผู้รับซื้อขยะมาช่วยเรา โดยเริ่มที่แรกที่โรงเรียนจรัสวิทยาคารแห่งนี้”
.
เพราะสายน้ำสำคัญกับชีวิตคนในชุมชน ถ้าเราไม่แยกขยะ ขยะจะไปสู่สายน้ำ ไปสู่ทะเล การดูแลขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่ต้องหันมาใส่ใจ
.
ทั้งนี้เนสท์เล่จะสานต่อความยั่งยืนให้กับกิจกรรมตลาดนัดขยะชุมชนนี้ ด้วยการนำวงษ์พาณิชย์สาขาในท้องถิ่นเข้ามารับซื้อขยะรีไซเคิลจากชุมชนโดยตรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเดินสายจัดกิจกรรมตลาดนัดขยะชุมชนขยายไปในอีกหลายชุมชนริมคลองขนมจีน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะ ลดปัญหาขยะชุมชนและในแหล่งน้ำ เพื่อให้ทั้งคลองปลอดขยะ และไปสู่เป้าหมายในการปกป้องและฟื้นฟูแหล่งน้ำได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งชุมชนเพื่อดูแลโลกอย่างยั่งยืน
.
"โลกนี้ไม่มีขยะ มันเป็นเพียงทรัพยากรที่วางไว้ผิดที่"
.
เจ้าของประโยคดังกล่าว ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธาน วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป บอกว่า
.
“สายน้ำที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชนมาเป็นเวลานานกลายเป็นแหล่งน้ำเน่าเสียใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะมีขยะลอยน้ำเต็มไปหมด นี่เป็นเพราะขยะไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ทั้งขยะและน้ำกลายเป็นของเน่าเสีย การทิ้งขยะลงน้ำก็เหมือนทิ้งเงินลงแม่น้ำ เราควรส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศในน้ำและมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม”
.
“กลุ่มวงษ์พาณิชย์รู้สึกยินดีมากครับที่ได้ร่วมกับเนสท์เล่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้การจัดการขยะเพื่อรักษามูลค่าขยะและส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเปลี่ยนขยะทุกชนิดให้เป็นรายได้ของชาวบ้านและเป็นทรัพยากรหมุนเวียน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”
.
เขาแนะนำการคัดแยกขยะด้วยว่า “ที่วงษ์พาณิชย์จะแยกการรีไซเคิลตามประเภทวัสดุ เช่น กระดาษจะเอาไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษใหม่ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ กระป๋องอะลูมิเนียมจะนำไปผลิตเป็นอะลูมิเนียมใหม่ได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้งเลย ขวด PET สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำเป็นเส้นใยเพื่อมาทำเสื้อผ้าหรือกระเป๋า นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า เกิดการหมุนเวียนอย่างแท้จริง แก้ว ก็จะเอาไปผลิตเป็นแก้วใหม่ได้”
.
ชุมชนเรียนรู้ - ลงมือทำจริง เพราะขยะเปลี่ยนเป็นเงินได้
กิจกรรมตลาดนัดขยะช่วยให้ชุมชนเรียนรู้การจัดเก็บและดูแลขยะอย่างถูกวิธี ทำให้ทรัพยากรที่อยู่ผิดที่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เรียนรู้ถึงความต่างของกระป๋องอะลูมิเนียมที่สามารถทำให้แบนและนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งต่างจากกระป๋องดีบุกที่ทำให้แบนไม่ได้ ขวด PET ใสที่บิดและปิดฝาก่อนทิ้งโดยไม่ต้องแยกฉลากให้ราคาดีกว่าขวดหลากสี ขวดน้ำปลา ซีอิ๊วต่าง ๆ ที่เป็นแก้วสามารถขายได้เลยโดยไม่ต้องถอดฝาออก สมุดจดที่ใช้หมดแล้วแค่ดึงปกออกก็สามารถขายได้ราคาดีกว่า เพราะปกต้องแยกขายเป็นกระดาษย่อย รวมถึงน้ำมันพืชที่ใช้แล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้อีกก็นำมาขายได้เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ถุงแกงเลอะคราบมันก็สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือ RDF ได้ เพราะจะให้พลังงานความร้อนได้ดี
.
นางสาวอรัณยา กิจฉัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลบ้านหลวง กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางคนไม่ค่อยแยกขยะกันเพราะขายแบบเหมารวมได้เพียงกิโลกรัมละ 2 บาท รถขยะจากส่วนกลางก็ไม่ได้เข้ามาถึงชุมชน เมื่อมีกิจกรรมตลาดนัดขยะชุมชนที่มีการอบรมและรับซื้อขยะที่แยกประเภทตามราคาจริง จึงเป็นประโยชน์ทั้งกับชาวบ้านและการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนไปพร้อมกัน สามารถสร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ และแก้ปัญหาขยะในชุมชนและขยะในแหล่งน้ำได้จริง ตอนนี้ชุมชนเรารู้ว่าอะไรขายได้ ขายไม่ได้ รู้แล้วว่าจะต้องแยกขยะอย่างไรให้ขายได้ราคาดี มีกระดานอัปเดตราคาขยะแยกประเภทอยู่ในโรงเรียน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทราบราคาขยะตามที่วงษ์พาณิชย์จะเข้ามารับซื้อจริงอยู่เป็นประจำ และในระยะยาวชาวบ้านจะไม่ทิ้งขยะลงคลองอีก เพราะก็เหมือนทิ้งเงินลงน้ำไปด้วย”
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000112314