“เอนก” เปิดงานเกษตรแฟร์ลำปาง ชูงานวิจัยระดับโลก ”นวัตกรรมกระบวนการผลิตกาแฟ” ของ มทร.ล้านนา ช่วยยกระดับเกษตรกรไทย ย้ำมหา’ลัยต้องช่วยพัฒนาท้องถิ่น-รับใช้ประชาชน

.

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเกษตรแฟร์ลำปางโดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และ ผศ.จตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) เข้าร่วม ที่ มทร.ล้านนา วิทยาเขตลำปาง จ.ลำปาง

.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จ.ลำปาง เป็นเมืองการเกษตร แต่ฟ้าดินไม่อำนวย ด้านการเกษตรจึงยังไม่มีชื่อเสียงเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันลำปางได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะการที่มี รศ.ดร.วันเพ็ญ จิตรเจริญ หัวหน้าทีมวิจัย Arabica Research Team ของ มทร.ล้านนา ที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกและปรับปรุงพันธ์ุกาแฟ นำความรู้และนวัตกรรมมาช่วยเกษตรกร จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งขณะนี้มีคนสนใจมาเรียนรู้จากทั่วโลก นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่มหาวิทยาลัยสอนและวิจัย ควรจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านมากที่สุด เกษตรก้าวหน้า จะช่วยการเกษตรที่ทำอยู่ดีขึ้น แต่ต้องทำร่วมกันระหว่างจังหวัดกับมหาวิทยาลัย เพราะเกษตรกรเป็นอาชีพที่สำคัญที่ยังรอความช่วยเหลือจากเรามาก

.

“การพัฒนามหาวิทยาลัยไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศ แต่เพื่อรับใช้พื้นที่ รับใช้ประชาชน ตนอยากเชิญชวน ผู้ว่าฯ นายก อบจ. นายก อบต.มาดูมหาวิทยาลัยในลำปาง สนับสนุนและช่วยกันคิด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่เป็นของกระทรวง อว. แต่เป็นของจังหวัดเป็นของประเทศ” รมว.อว.กล่าว

.

ด้าน ผศ.จตุฤทธิ์ กล่าวว่า งาน “เกษตรแฟร์ลำปาง” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสรรค์และส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรของ จ.ลำปาง  รวมทั้งยังเป็นศูนย์การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนลำปางให้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ให้เกิดกระแสการหมุนเวียนเศรษฐกิจและเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการการพัฒนาภูมิปัญญาของท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น โดย มทร.ล้านนา มีองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรมาจัดแสดง ในมากมาย เช่น ผ้าใบกัญชง ผ้าฝ้าย ผ้าไทยใยสับปะรด มะนาวผง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000115719