ภาพจำลองดาวฤกษ์ Copernicus กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Janssen

ทีมนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับดาวเคราะห์ประหลาด “แจนส์เซน” (Janssen) หรือ 55 Cancri e โดยพบว่ามันมีอุณหภูมิร้อนจัดเหมือนนรกเกือบ 2,000 องศาเซลเซียส และใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น

.

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 40 ปีแสง และเป็นบริวารของดาวฤกษ์ “คอเปอร์นิคัส” (Copernicus) แต่วงโคจรของมันอยู่ชิดติดกับดาวฤกษ์อย่างมาก โดยอยู่ใกล้กว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 70 เท่า

.

เหตุดังกล่าวทำให้ดาวแจนส์เซนมีอุณหภูมิร้อนแรงยิ่งกว่าดาวเคราะห์ทั่วไป จนพื้นผิวทั้งหมดกลายเป็นมหาสมุทรลาวาที่เดือดพล่าน อีกทั้งระยะเวลา 1 ปีบนดาวดวงนี้ ยังสั้นกว่า 1 วันบนโลกถึง 6 ชั่วโมงเสียอีก

.

ดาวแจนส์เซนได้รับการขนานนามตามชื่อของชาวดัตช์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แบบใช้เลนส์ตัวแรก ดาวดวงนี้มีมวลมากกว่าโลก 8 เท่า และมีความกว้างมากกว่า 2 เท่า โครงสร้างของดาวมีความแข็งแกร่งเนื่องจากมีแก่นภายในเป็นเพชร

.

ทีมนักดาราศาสตร์ศึกษาดาวเคราะห์ประหลาดดวงนี้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Lowell Discovery Telescope ที่อยู่ในรัฐแอริโซนา โดยตรวจวัดข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของมันได้ ขณะเกิดปรากฎการณ์ “ทรานซิต” (transit) หรือการที่ดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์ ซึ่งความเข้มของแสงดาวที่เปลี่ยนแปลงไปจะบ่งบอกถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของมันได้

.

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Janssen หรือ 55 Cancri e มีวงโคจรที่อยู่ชิดติดกับดาวฤกษ์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ดร. ลิลี่ เจ้า ผู้นำทีมวิจัยจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงคำนวณของสถาบันแฟล์ทิรอน (Flatiron Institute) บอกว่าสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ ก็คือวงโคจรที่แปลกประหลาดของดาวแจนส์เซน ซึ่งดูเหมือนว่าในอดีตดาวดวงนี้จะก่อตัวขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางมาก แต่มีแรงบางอย่างที่ดึงดูดให้มันค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวฤกษ์ในภายหลัง

.

ดร. เจ้า อธิบายว่า ระบบดาวที่ดาวเคราะห์แจนส์เซนและเพื่อนดาวบริวารอีก 4 ดวงเป็นสมาชิกอยู่นี้ แตกต่างจากระบบสุริยะของเรา เนื่องจากดาวบริวารแต่ละดวงไม่ได้มีวงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้แรงโน้มถ่วงที่ดาวฤกษ์กระทำต่อบริวารและที่ดาวบริวารกระทำต่อกันเองมีความซับซ้อนยิ่งกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วงโคจรของดาวแจนส์เซนเคลื่อนเข้าใกล้ดาวฤกษ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

.

“การที่ระบบสุริยะของเราสามารถให้กำเนิดชีวิตได้ อาจเป็นเพราะความพิเศษในเรื่องของระเบียบวงโคจรที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ซึ่งหาพบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบกับระบบสุริยะอื่นที่แตกต่างออกไป ก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นนี้ได้เช่นกัน” ดร. เจ้า กล่าวสรุป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cjm3plp1lpno