หลังจากสงครามยูเครน – รัสเซีย ได้เริ่มขึ้น ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ที่มีมาก่อนหน้าเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าในทวีปอย่างรุนแรง โดยในช่วงปกติ อัตราค่าไฟฟ้าต่อ 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) จะอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 บาท แต่ในช่วงความขัดแย้งนี้ ทำให้ราคาต้นทุนพุ่งเป็น 4,600 บาทต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) และล่าสุดในฤดูหนาวของยุโรป ราคาค่าไฟฟ้าก็ก้าวกระโดดเป็น 11,400 บาท ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากประเทศรัสเซีย

.

ด้วยปัญหาด้านราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก สถาบันวิจัยเอกชนหนึ่งในประเทศนอร์เวย์ จึงได้มีการประกาศว่าอนาคต พลังงานจากแสงอาทิตย์จะมีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าก๊าซธรรมชาติกว่า 10 เท่า ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนไป

.

สถาบันวิจัยด้านพลังงานที่มีชื่อว่าริสตัด เอเนอร์จี (Rystad Energy) ที่มีสำนักงานในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้เผยข้อมูลว่า ทางสถาบันได้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านกำลังการผลิตและราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของแหล่งต่างๆ เปรียบเทียบกัน ตลอดจนจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอทิศทางการผลิตและราคาในอนาคต โดยในรายงานที่เป็นข่าวนี้ได้เน้นการเปรียบเทียบระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

.

รายงานจากสถาบันด้านพลังงานของประเทศนอร์เวย์ ได้คาดว่าปัญหานี้จะบรรเทาลงได้ ในยามที่ยุโรปกำลังตกที่นั่งลำบากเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อทำความร้อนเพิ่มขึ้น โดยในประเทศฝรั่งเศสจะกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ให้กำลังการผลิต 30 กิกะวัตต์ (GW) ในปีหน้า ส่วนพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเริ่มใช้งานในช่วงเวลาเดียวกันจะเติมไฟฟ้าให้อีก 50 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งจะลดระดับราคาต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (Cost per MWh) ลงไปบ้าง

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อจบทศวรรษนี้ หรือราวๆ ปลายปี 2030 คาดการณ์ว่าระดับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยจะอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 5,200 บาท แต่ถ้าต้องการแข่งกับการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ราคาต้นทุนเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติต้องอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (USD/MWh) หรือราวๆ 600 บาท ซึ่งห่างกันเกือบ 10 เท่า ทำให้บริษัทระบุว่า “เป็นไปไม่ได้” ด้วยเงื่อนไขปัจจุบันนี้

.

ดังนั้น ผู้มีอำนาจในยุโรปจำเป็นต้องส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในทวีปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อกดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 1.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัตต์ (USD/Watt) หรือราวๆ 45 บาท ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ทั้งทวีปยุโรปก็จะพ้นจากความยากลำบากด้านพลังงานอย่างถาวรในอนาคต

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000122148