“จังหวัดสมุทรสงคราม” เป็นหนึ่งจังหวัดใน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการฯ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

.

ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป พร้อมกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาในภาคการเกษตร การพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ตลอดจนความหลากหลายของสินค้าเกษตร

.

จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง โดย “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ทั้งสิ้น 1,920 ครัวเรือน รวมพื้นที่การปลูกประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมือง 7 ไร่ อำเภออัมพวา 2,328 ไร่ และอำเภอบางคนที 2,861 ไร่ อีกทั้งไม้ผลที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม

.

“จากการลงพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาการควบคุมการออกดอก ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ ซึ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องได้รับการส่งเสริมและแก้ไขปัญหา โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมให้ลิ้นจี่ในพื้นที่สมุทรสงครามมีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น” .... ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว

.

ทั้งนี้ วว. ได้นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ โดยลิ้นจี่จะออกดอกได้นั้น ใบลิ้นจี่ต้องเป็นใบแก่ที่มีความสมบูรณ์และได้รับอากาศเย็น เมื่อลิ้นจี่ได้รับอากาศหนาวจะออกดอกได้ดีและมีการออกดอกเป็นจำนวนมาก ต้นลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความสมบูรณ์สำหรับการออกดอก เมื่อฤดูหนาวมาถึง ต้นจะไม่พร้อม ทำให้ออกดอกได้น้อยและจะออกดอกในช่วงกลางถึงปลายฤดูหนาว ส่งผลให้ผลที่ออกทีหลังราคาจะต่ำกว่าผลที่ออกก่อน และดอกที่ออกช้าจะกระทบกับฝนหลงฤดูหรือฝนชะช่อมะม่วงในช่วงเดือนมกราคม ทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผลและไม่มีผลผลิตเพราะต้องการการผสมเกสร เกษตรกรต้องเสริมโดยใช้ฮอร์โมนแปลงเพศดอกเข้าไปช่วยในการผสมพันธุ์และการติดผล ลิ้นจี่เมื่อติดผลแล้วจะมีการร่วงของผลอีกราว 3-4 รอบ ซึ่งต้องช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของต้นเพื่อช่วยลดการหลุดร่วงและใช้ฮอร์โมนขยายขนาดและเพิ่มน้ำหนักของผลลิ้นจี่

.

จุดเด่นของนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม โดย วว. คือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อนจะเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า

.

กระบวนการผลิต/แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินโครงการฯ นี้ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำแปลงสาธิต การผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 แปลง ซึ่งปลูกต้นลิ้นจี่ที่มีอายุ 50 ถึง 100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นลิ้นจี่โดยการฉีดฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวจำนวน 2 เดือน เพื่อให้ลิ้นจี่ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบจนมีความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว (หากลิ้นจี่ออกใบอ่อนอีกจะไม่เหมาะกับการเจอฤดูหนาว ดังนั้นจะฉีดสารหยุดยอด เพื่อคุมไม่ให้ออกใบอ่อน)

.

ขั้นตอนกระบวนการผลิต
1. เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้ฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล
2. เมื่อลิ้นจี่ติดผลให้ฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่

.

นอกจากนี้ วว. ยังได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้แก่

.

1. การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระบบเกษตรปลอดภัย
2. การขยายชีวภัณฑ์รูปแบบเหลวในถังขยายจุลินทรีย์
3. นวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่
4.นวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด

.

จากการดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ วว. พบว่า ผลผลิตลิ้นจี่สูงขึ้น ผลมีขนาดโต เกรดและคุณภาพลิ้นจี่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคต จากการที่ผลผลิตสูงขึ้น ทำให้รายได้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกก่อน ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น นับเป็นโมเดลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000013634