สจล. หนุนนวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก เตรียมจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO 2023 วันที่ 27-29 เมย.นี้ โชว์พลังสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย 1,111 ชิ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน วัสดุทดแทนลิเธียมไอออน เพราะราคาถูกกว่ามาก สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ

.

เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.2566) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี ผนึกความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรนานาชาติ แถลงเตรียมจัดงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” ในวันที่ 27 - 29 เม.ย. 2566 ที่ สจล.

.

งานนี้เป็นการแสดงนวัตกรรมและผลงานวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 1,111 ชิ้น โดยเผยตัวอย่าง 4 นวัตกรรมสุดว้าว! 1.แบตเตอรี่กราฟีนสำหรับยานยนต์ EV ในอนาคต 2.ผ้าไหมไทยย้อมกราฟีนแบบใส่ในเมืองร้อนและเมืองหนาว 3.เม็ดพลาสติกกราฟีน และ 4.ระบบตรวจจับ Plasma Bubble ในชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “รวมพลังสร้างอนาคต เปลี่ยนไทย...เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม” ณ ศูนย์ KMITL Creator Space ชั้น 6 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค

.

แบตเตอรี่กราฟิน ผลิตในประเทศ สำหรับ EV ฝีมือคนไทย ต้นทุนต่ำ ปลอดภัย ไม่ระเบิด

ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ สจล.โชว์การคิดค้น 3 นวัตกรรมที่ใช้กราฟีน

นวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน วัสดุแห่งอนาคต ตอบโจทย์ BCG

สำหรับทีมวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า กราฟีน (Graphene) เป็นสิ่งที่นานาประเทศเชื่อมั่นว่าเป็นวัสดุแห่งอนาคต โดยเป็นชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นโครงสร้าง 6 เหลี่ยม (Hexagonal) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยคุณสมบัติสุดพิเศษหลายด้าน เช่น บางที่สุดในโลก แข็งแกร่งกว่าเพชรและเหล็กกล้าถึง 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดี น้ำหนักเบาแต่พื้นผิวมาก กราฟีน 1 กรัม จะมีพื้นผิวเท่ากับ 10 สนามเทนนิส

.

ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ สจล.ได้คิดค้น 3 นวัตกรรมที่ใช้กราฟีน เพื่อคนไทยและมนุษยชาติ โดยเฉพาะ “แบตเตอรี่กราฟีน” ซึ่งคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 2566 สำหรับใช้กับยานยนต์ ปัจจุบัน สจล.เป็นแห่งเดียวในไทยที่สามารถผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนใน สจล. ด้วยกำลังผลิตเดือนละ 15 กก. ทดแทนการนำเข้าซึ่งมีราคากก.ละกว่า 10 ล้านบาท เรียกว่าเป็นวัสดุล้ำค่า เมดอินไทยแลนด์

.

นับเป็นความสำเร็จในเฟสที่1 และวันนี้เป็นความสำเร็จในเฟสที่2 ทีมวิจัยคิดค้นพัฒนา“แบตเตอรี่กราฟีน” ครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติ เช่น ถ่านเปลือกทุเรียน ถ่านกัญชง ถ่านหินลิกไนต์ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า นอกจากนี้ ทีมวิจัย สจล.ยังได้พัฒนาวัสดุใหม่ คือ วัสดุคอมโพสิตยางพารา ผสม นาโนกราฟีนออกไซด์ เพื่อป้องกันการคายประจุจากไฟฟ้าสถิต ทั้งเป็นตัวดูดซับสารอิเล็กโทรไลต์ให้มีสภาพเปียกได้สูง มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง ช่วยให้การเคลื่อนที่ของไอออนไหลผ่านได้ดีขึ้นจากรูพรุนที่เหมาะสม ส่งผลให้ยางพารามีประสิทธิภาพในการเป็นตัวแยกขั้วไฟฟ้าที่ดี ไม่มีความร้อนสะสมภายใน ทนต่อความร้อนและปฏิกิริยาเคมีจากกราฟีนออกไซด์

.

จุดเด่นของ “แบตเตอรี่กราฟีน” คือ กักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นจากแบตเตอรี่แบบเดิม ราคาถูก ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก

.

“ในอนาคตเป็นการพัฒนาเฟสที่3 และ4 สามารถใช้ได้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ก้าวเป็นฮับ EV และสังคมที่ยั่งยืน” รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์กล่าว

.

รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์

สจล.และพันธมิตร ร่วมแถลงเตรียมจัดงาน KMITL Innovation Expo 2023 โชว์ 1,111 นวัตกรรม วันที่27-29 เม.ย.นี้

ชมงาน KMITL Innovation EXPO 2023 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย.... ผู้สนใจลงทะเบียนที่ลิ้งค์ https://expo.kmitl.ac.th/ และในงานได้จัดเตรียมรถบัสไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า BEAM
ไว้คอยบริการรับส่งผู้มาเยี่ยมชมด้วย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000022139