กลุ่มมิตรผล ตอกย้ำถึงแนวทางดำเนินงานจนก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Development) อันดับที่ 2 ของโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จาก S&P Global เมื่อเดือน กพ.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่า ผู้บริหารและพนักงานกลุ่มมิตรผล รวมถึงพันธมิตรธุรกิจ ลงมือทำให้เห็นผลลัพธ์จริงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

.

จากผลการประเมินด้านความยั่งยืนขององค์กร หรือ Corporate Sustainability Assessment (CSA) โดย S&P Global ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยสามารถสร้างผลงานยอดเยี่ยมและไต่อันดับสูงขึ้นเรื่อยมา จากอันดับ 17 ในการเข้าร่วมประเมินปีแรกจนมาถึงอันดับ 2 ในปัจจุบัน จาก 353 องค์กรที่เข้าร่วมประเมิน ครองอันดับ TOP 5% S&P Global ESG Score 2022 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกในรายงานความยั่งยืน “The Sustainability Yearbook Member” 4 ปีซ้อน นับเป็น อีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของกลุ่มมิตรผลตลอดระยะเวลากว่า 67 ปี เพื่อสร้างองค์กรแห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนแก่ทุกภาคส่วน

.

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความสำเร็จของผลการประเมินด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในปีนี้ว่า “จากทุกความตั้งใจของผู้บริหารและพนักงานกลุ่มมิตรผล การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทาย และการลงมือทำให้เห็นผลจริงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เราสามารถก้าวสู่อันดับที่ 2 จากผลการประเมินด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนจาก S&P Global ได้ในปีนี้ นับเป็นการผลักดันให้องค์กรได้ก้าวสู่มาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล โปร่งใส และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทชั้นนำของโลก

.

การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในมิติต่างๆ จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจสามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้ รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลสังคม กลุ่มมิตรผลเรายึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและลงมือทำจริงมาเป็นเวลานาน พร้อมยกระดับด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ มาบริหารจัดการเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยเหตุที่เราอยู่ในภาคเกษตรอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่เกษตรกร ชุมชน ลูกค้า คู่ค้า รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนของเราจึงมุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่คนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

.

"เรายังมองเห็นถึงศักยภาพของภาคเกษตรไทยที่สามารถต่อยอดสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในระดับประเทศและระดับโลก การดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลมุ่งช่วยสนับสนุนและเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ไปด้วยกัน”

.

นายบรรเทิง ย้ำเจตนารมณ์ของกลุ่มมิตรผล ว่ามุ่งดำเนินงานเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีแนวทางที่สอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) ครอบคลุมทั้งหมด 3 มิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้เกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนระดับโลกในมาตรฐานเดียวกับ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เพื่อสร้างมาตรฐานและความโปร่งใสให้ทัดเทียมกับองค์กรระดับโลก

.

จากคะแนนการประเมินในครั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งใน ด้านเศรษฐกิจ อาทิ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับคู่ค้าไปพร้อมกัน ด้านสังคม ที่มุ่งเน้นพัฒนาดูแลคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ชุมชนรอบโรงงาน พนักงาน ในองค์กร คู่ค้า ลูกค้า ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มมิตรผลตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่าน 6 แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่

.

1) การผลิตและเลือกใช้พลังงานสะอาด
2) การพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
3) การสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสด
4) การบริหารจัดการน้ำเสียและการจัดการขยะในโรงงาน
5) การปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
6) การชดเชยคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

.

ทั้งนี้กลุ่มมิตรผลยังคงสานต่อเป้าหมายองค์กรแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงมือทำจริงเพื่อต่อยอดแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมเป็นองค์กรไทยที่จะช่วยยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนในระดับสากลต่อไป เห็นได้ชัดจากการดำเนินงาน และกิจกรรมการขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมา

.

ตัวอย่างเช่น มิตรผลได้ถ่ายทอดความรู้ในการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีให้กับชาวไร่ ซึ่งแนวทางนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดการเผาอ้อยได้ ลดปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 อีกทั้งลดการใช้ปุ๋ย น้ำ น้ำมันฟอสซิล และมิตรผลยังรับซื้อใบอ้อยที่ได้จากการตัดอ้อยสดเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

.

ปลายปีที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร เตรียมร่วมมือผลักดันและยื่นโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจาก Green Climate Fund ซึ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) สำหรับโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการประเมินคาร์บอนเครดิต ในพืชนำร่อง 4 ชนิด คือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและ ข้าว บนพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรกว่า 2,500 ไร่ โดยที่กลุ่มมิตรผล เป็นผู้นำร่องให้ความร่วมมือการเตรียมพัฒนาวิธีการและขั้นตอนการวัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการรับรองคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรจากไร่อ้อย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000023157