กลุ่มมิตรผล ยกระดับศักยภาพการผลิตเอทานอลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำโรงงานเอทานอล ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตเอทานอลเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก Bonsucro EU-RED เป็นรายแรกของประเทศไทย ผ่านการต่อยอดจากมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนระดับโลก โดย Bonsucro EU-RED เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของกลุ่มมิตรผลที่มุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ อีกทั้งในอนาคต

.

กลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่อันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ยังตั้งเป้าสู่การรับรองการผลิตเอทานอลเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีก 25% ภายในปี 2025 เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยอุตสาหกรรมไบโอเบส

.

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “การสร้างพลังงานสีเขียวด้วยการผลิตเอทานอลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งภารกิจหลักที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญและพัฒนาเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการดำเนินงานในการสร้างความยั่งยืนขององค์กร ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยให้แข็งแกร่งมาโดยตลอด ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้ค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายดังกล่าวจะช่วยรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังนำพาสังคมเติบโตสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป”

.

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงานและธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงานและธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากการที่โรงงานเอทานอลภูเขียวได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro EU-RED ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการผลิตเอทานอลคุณภาพตั้งแต่การบริหารจัดการไร่อ้อย กระบวนการผลิตในโรงงาน การจ้างแรงงาน รวมถึงระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพเอทานอลให้มีความยั่งยืน

.

นอกจากนี้ การผลิตเอทานอลเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ยังช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไบโอเบส (Bio-based) ที่มีวัตถุดิบตั้งต้นจากภาคเกษตร ตอบรับกับเทรนด์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตในยุคปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

.

เอทานอลที่มีมาตรฐานความยั่งยืนจึงเป็นวัตถุดิบทางเลือกที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นกุญแจสำคัญในการนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรม Bio-PE หรือพลาสติกชีวภาพ และธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่มีแนวโน้มความต้องการจากทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ทั้งหมดนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศในเวทีโลกแล้ว ยังพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางเลือกคุณภาพและรักษ์โลกให้แก่สังคมและผู้บริโภค ตลอดจนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

.

โรงงานเอทานอลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro EU-RED

ทั้งนี้ เอทานอลเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล โดยการดำเนินงานของโรงงานเอทานอลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro EU-RED ด้วยการต่อยอด 5 หลักการตามมาตรฐานการผลิตบองซูโคร (Bonsucro Production Standard) จากกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนเดิมที่กลุ่มมิตรผลเคยได้รับการรับรองตั้งแต่ปี 2016 และเพิ่มการขอรับรองในส่วนโรงงานเอทานอลเพิ่มเติมอีก 1 หลักการ ได้แก่

.

1. ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในพื้นที่เพาะปลูก ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมาย และปลูกอ้อยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง

2. เคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงาน ดำเนินกิจการโดยยึดหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน

3. บริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้มีประสิทธิภาพ มีการจัดการวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4. บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เน้นจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย มีมาตรฐานควบคุมการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

5. ปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาล การวิจัยเพื่อเพิ่มการผลิตเอทานอล การฝึกอบรมพนักงานเพื่อพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง หรือการจัดการขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

.

นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองเพิ่มเติมตามเกณฑ์ของ Ethanol EU RED II ในหลักการที่ 6 คือ ติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาวะโลกร้อนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

.

การได้รับการรับรองเป็นผู้ผลิตเอทานอลเพื่อความยั่งยืนดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งมั่นพิชิตเป้าหมายสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ร่วมนำพาประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอน ขับเคลื่อนภาคเกษตรอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างโอกาสใหม่ให้อุตสาหกรรมไบโอเบสต่อไป

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000032900