นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับรางวัลชนะเลิศ (MGA Award) จากผลงานนวัตกรรม Smart Suit ชุดกันไฟ หรือเสื้อกันเพลิง ชูจุดเด่นการใช้เทคโนโลยี IOT ที่เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ แจ้งเตือนทันทีเมื่อมีการเกิดความเสี่ยงถึงชีวิต

.

นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ (MGA Award) จากงาน “Rapid Prototype Development (RPD) Challenge – a multi GNSS Asia programme” ด้วย นวัตกรรม Smart Suit ชุดกันไฟ หรือเสื้อกันเพลิง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GNSS, IoT และ LoRa ที่ประกอบไปด้วย sensor ต่างๆ วัดค่าพารามิเตอร์และมีระบบแจ้งเตือน เพื่อความปลอดภัยของนักดับเพลิงจากการผจญเพลิงจากไฟป่า โดยการจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีระดับโลก ทีมีผลงานนักศึกษา มากกว่า40ทีม จากหลายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียส่งเข้าประกวด ซึ่งผลงาน ชุดกันไฟ ของนิสิตทีม TAF จากภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 มาได้

.

นายนิธิ อจละนันท์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนทีม TAF เปิดเผยว่า ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก กว่าที่จะคว้าชัยชนะมาได้ เพราะต้องผ่านการแข่งขันถึง 3 รอบ โดยทีมนิสิตได้ใช้ความรู้ความสามารถ ต่อยอดจากการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างนวัตกรรมชุดกันไฟ จนมีคะแนนสูงสุด

.

โดยจุดเด่นของชุดกันไฟ คือการใช้เทคโนโลยี IOT ที่เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ ไว้ที่ชุดกันไฟสำหรับนักดับเพลิง ซึ่งสามารถวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ได้ เช่น วัดค่าฝุ่น ค่าคาร์บอน ค่าความร้อน ซึ่งสิ่งที่ทำให้โดนใจคณะกรรมการน่าจะเป็นเรื่องการตรวจวัดค่าความร้อน ที่สามารถแจ้งเตือนค่าความร้อน ว่ามีอุณหภูมิสูงเกินกำหนดหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าสูงเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ก็สามารถแจ้งเตือนทันที เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก และจุดเด่นอีกอย่าง คือการแจ้งเตือนค่าคาร์บอนมอนออกไซ์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ หากได้รับเข้าร่างกายเกินค่ามาตราฐาน จะทำให้เสียชีวิตทันที การแจ้งเตือนจะทำให้รู้ตัวได้ทันท่วงทีก่อนที่จะหมดสติ

.

นอกจากนั้นชุดกันไฟนี้ยังสามารถแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ ตรวจจับพิกัด และที่ศูนย์ควบคุมก็ยังสามารถแจ้งเตือนไปยังนักดับเพลิง ผ่านชุดกันไฟได้ทันที และการมอนิเตอร์ผ่านชุดกันไฟ ยังช่วยแก้ปัญหาเวลาที่ลมเปลี่ยนทิศ ทำให้การควบคุม การหนีเปลวไฟ ที่กำลังลุกไหม้ได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตขณะปฎิบัติงาน

.

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชิ้นนี้ ทีม TAF นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากการแก้ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงภาวะวิกฤตการดับไฟป่าในหลายประเทศทั่วโลก ที่อาจจะต้องทำให้สูญเสียนักดับเพลิงไปแล้วหลายราย และคาดหวังว่าชุดกันไฟนี้ จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดการสูญเสียของนักดับเพลิงและแก้ปัญหาไฟป่าได้เป็นอย่างดี

.

ทั้งนี้ ทีม TAF ประกอบด้วย นายนฤดม หมี-อิ่ม นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า, นายนิธิ อจละนันท์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า, นางสาวนิชานันท์ ชุณห์เสรีชัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, นายณฐพงศ์ อินทรสุข นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ และ นางสาวอนุธิดา ฤทธิพันธ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000043284