วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น "วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ" (International Day for Biological Diversity) เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มมีผลบังคับใช้ ในวันนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2535 และเพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจะกำหนดหัวข้อการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี
.
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือ การที่มีชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก กล่าวคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ทำให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถเลือกการบริโภคได้ เช่น ข้าว หากมีความหลากหลายของสายพันธุ์ เราสามารถเลือกบริโภคข้าวจ้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่นได้ แต่หากความหลากหลายของสายพันธุ์ลดลง เราอาจเลือกบริโภคได้เพียงข้าวเหนียวและข้าวจ้าวได้เท่านั้น เป็นต้น
.
ความหลากหลายระหว่างชนิดพันธุ์ สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปถึงความแตกต่างระหว่างพืชกับสัตว์แต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น สุนัข แมว จิ้งจก ตุ๊กแก นก เป็นต้น หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าเขาลำเนาไพร พื้นที่ธรรมชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย แต่ว่ามนุษย์ได้นำเอาสิ่งมีชีวิตมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และอุตสาหกรรม น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความเป็นจริงพบว่ามนุษย์ได้ใช้พืชเป็นอาหารเพียง 3,000 ชนิด จากพืชมีท่อลำเลียง ที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกถึง 320,000 ชนิด ทั้งๆ ที่ประมาณร้อยละ 25 ของพืชที่มีท่อลำเลียงนี้สามารถนำมาบริโภคได้ สำหรับชนิดพันธุ์สัตว์นั้น มนุษย์ได้นำเอาสัตว์เลี้ยงมาเพื่อใช้ประโยชน์เพียง 30 ชนิด จากสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมดที่มีในโลกประมาณ 50,000 ชนิด
.
ความหลากหลายระหว่างระบบนิเวศเป็นความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งซับซ้อน สามารถเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างระบบนิเวศประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเลสาบ บึง หนอง ชายหาด แนวปะการัง ตลอดจนระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ทุ่งนา อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งชุมชนเมืองของเราเอง ในระบบนิเวศเหล่านี้ สิ่งมีชีวิตก็ต่างชนิดกัน และมีสภาพการอยู่อาศัยแตกต่างกัน
.
ความแตกต่างหลากหลายระหว่างระบบนิเวศ ทำให้โลกมีถิ่นที่อยู่อาศัยเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ระบบนิเวศแต่ละประเภทให้ประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งให้ "บริการทางสิ่งแวดล้อม" (environmental service) ต่างกันด้วย อาทิ ป่าไม้ทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ส่วนป่าชายเลนทำหน้าที่เก็บตะกอนไม่ให้ไปทบถมจนบริเวณปากอ่าวตื้นเขิน ตลอดจนป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งจากกระแสลมและคลื่นด้วย และตราบใดที่โลกยังคงอยู่ มนุษย์เรายังคงต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ในการดำรงชีวิต
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000046990