ในบางครั้งมนุษย์เราก็มีอารมณ์แบบแปลก ๆ โดยผู้ใหญ่ทั่วโลกกว่า 50-60% มีความรู้สึกก้าวร้าวรุนแรงต่อสิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดู (cute aggression) เช่นอยากบีบแก้มยุ้ยเด็กเล็กแรง ๆ หรือรู้สึกมันเขี้ยวจนอยากกอดรัด ใช้มือจกพุงอ้วน ๆ เต็มไปด้วยขนนุ่มฟูของกระต่ายหรือแมวเหมียว

.

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ไม่ใช่การมุ่งร้ายหรือคิดจะทำอันตรายต่ออีกฝ่ายแต่อย่างใด ทว่าคนจำนวนไม่น้อยก็อดไม่ได้ที่จะเชยชมความน่ารักจุ๋มจิ๋มของเด็ก สัตว์ตัวเล็ก ๆ หรือตุ๊กตา ผ่านการเล่นด้วยแรง ๆ ที่ไม่ทำให้สิ่งน่ารักต้องได้รับบาดเจ็บหรือแตกหักเสียหาย แต่อาจสร้างความอึดอัดรำคาญให้เด็กหรือสัตว์เหล่านั้นได้ไม่น้อย

.

เหตุใดคนเราจึงรู้สึกก้าวร้าวรุนแรงต่อสิ่งน่ารัก ซึ่งดูไปก็น่าจะอ่อนแอปวกเปียกไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครทั้งสิ้น ทว่าอารมณ์แบบนี้ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ จากกลไกการทำงานภายในสมองอันซับซ้อนของมนุษย์นั่นเอง

.

ความรู้สึกมันเขี้ยวจนต้องกัดฟัน หรือความต้องการจะบีบขยี้สิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดูไปเสียหมดนั้น เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่เรียกว่า dimorphous expression ซึ่งก็คือการกระทำและการแสดงออกที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกภายใน อย่างเช่นคนที่ดีใจมากจนร้องไห้ออกมา หรือคนที่โมโหโกรธาเสียจนมีอาการหลุดหัวเราะขำเรื่องที่ไม่พอใจอยู่ได้

.

ดร. โอรีอานา อารากอน จากมหาวิทยาลัยเคล็มสันของสหรัฐฯ ผู้ริเริ่มการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์รุนแรงต่อสิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดู ให้คำอธิบายไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Psychological Science เมื่อปี 2015 ว่าอาการมันเขี้ยวหรือมันมืออยากเข้าไปฟัดหนูน้อยตัวอ้วนกลมหรือลูกสัตว์ที่ขนฟูน่ารัก เป็นการแสดงออกด้วยสีหน้าและท่าทาง เพื่อสื่อสารถึงอารมณ์ที่ท่วมท้นและซับซ้อนอยู่ภายในออกมาให้ได้ทั้งหมด

.

“ลองดูใบหน้าที่ยิ้มแย้มเป็นตัวอย่าง หากคุณยิ้มเฉย ๆ ผู้คนจะดูออกแค่ว่าคุณกำลังมีความสุข แต่ถ้าคุณยิ้มและร้องไห้ไปด้วย คนอื่นจะรู้ว่าคุณดีใจมากเป็นพิเศษและต้องการช่วงเวลาหยุดพัก เพื่อดื่มด่ำกับความสุขและปลอบประโลมตนเอง” ดร.อารากอน กล่าว

.

“สิ่งที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้าม หากคุณยิ้มแบบกัดฟันพร้อมกับกำมือ คล้ายกับจะส่งเสียงออกมาว่า ‘ใช่เลย มันต้องอย่างนี้’ ซึ่งมักเกิดขึ้นในเวลาที่คุณประสบความสำเร็จบางอย่าง การแสดงออกแบบนี้บอกให้ผู้คนรอบข้างรู้ว่า คุณดีใจมากและรู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวก พร้อมจะออกเดินสู่ก้าวต่อไปได้ทันที”

.

ดร.อารากอน ชี้ว่า การแสดงออกด้วยสีหน้าและท่าทางแบบซับซ้อน ซึ่งอาจไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกภายในเสียทีเดียว มีความสำคัญอย่างมากในเชิงวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มกับคนรอบข้าง เพื่อให้ทราบถึงสภาพอารมณ์และแรงจูงใจภายใน ซึ่งจะช่วยให้คาดเดาได้ว่าคุณจะทำอะไรต่อไป โดยการที่ข้อมูลนั้นมีรายละเอียดมากกว่าปกติ จะส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกันและการแสวงหาความร่วมมือในสังคม

.

การแสดงออกแบบขัดแย้งและซับซ้อนเช่นนี้ พบได้ในกรณีที่บางคนรู้สึกมันเขี้ยวอยากขยำขยี้สิ่งน่ารักเช่นกัน โดยอาจลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของจูงสุนัขออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ คนที่เดินผ่านมาบางรายอาจส่งยิ้มให้ ซึ่งการส่งยิ้มเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถบอกได้โดยละเอียดว่า เขาหรือเธอรู้สึกอย่างไรกับสุนัขตัวดังกล่าว

.

หากคนรักสุนัขที่ผ่านมามีสีหน้ายิ้มแย้มพร้อมกับขบเขี้ยวเคี้ยวฟันไปด้วย นั่นหมายความว่าเขาหรือเธอชอบมันมากเป็นพิเศษ และอยากจะเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงแบบถึงเนื้อถึงตัว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่รู้สึกรักเอ็นดูสุนัขอย่างท่วมท้นล้นใจจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรงแบบ cute aggression เสมอไป

.

งานวิจัยของดร. อารากอน ระบุว่า คนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีแนวโน้มจะแสดงออกซึ่งอารมณ์รุนแรงท่วมท้นแบบไม่ตรงกับใจ เช่นหากคุณเป็นคนที่รู้สึกมันเขี้ยวต่อสิ่งน่ารักทั้งหลาย ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คุณจะเป็นคนประเภทที่ร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจแทนคู่บ่าวสาวในงานมงคลสมรสบ่อย ๆ

.

ส่วนคนที่รู้สึกรักเอ็นดูเด็กและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างมาก แต่กลับไม่แสดงออกแบบก้าวร้าวรุนแรงนั้น ดร.อารากอน ชี้ว่าเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีวิธีแสดงออกซึ่งอารมณ์ที่ซับซ้อนแตกต่างออกไป เช่นเมื่อเห็นทารกหรือลูกสัตว์ที่น่ารัก คนกลุ่มนี้จะแสดงสีหน้าท่าทางที่สื่อถึงอารมณ์โศกเศร้าออกมาแทน (cute sadness) โดยอาจห่อปาก ขมวดคิ้ว ทำตาปรือ และทำเสียงเล็กเสียงน้อยที่เรียกกันว่า “เสียงสอง” นั่นเอง

.

ในปี 2018 ผลการศึกษาของทีมนักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซด์ของสหรัฐฯ ได้เผยถึงกลไกทางประสาทและสมองที่เกิดขึ้นขณะผู้คนรู้สึกก้าวร้าวรุนแรงต่อสิ่งน่ารัก โดยมีการตีพิมพ์รายงานวิจัยนี้ลงในวารสาร Frontiers in Behavioral Neuroscience

.

ผศ. ดร.แคเทอรีน สตาโฟรปูลอส ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ได้ทดลองให้อาสาสมัครให้คะแนนความน่ารักและบรรยายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะชมภาพเด็กทารกหรือลูกสัตว์ที่น่าเอ็นดู โดยมีการสวมเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ในช่วงที่ทำการทดลองด้วย รวมทั้งมีการเปรียบเทียบผลคะแนนความน่ารักและคลื่นไฟฟ้าสมอง กับตอนที่ดูภาพสัตว์วัยโตเต็มที่และภาพทารกที่มีความน่ารักลดน้อยลง

.

ผลปรากฏว่าภาพลูกสัตว์และภาพทารกทั้งสองแบบ ทั้งแบบที่มีความน่ารักระดับสูงและแบบที่มีความน่ารักลดน้อยลงมา ต่างก็ได้รับการโหวตให้คะแนนมากที่สุด โดยในขณะนั้นคลื่นสมองมีความเคลื่อนไหวในส่วนของระบบประมวลผลทางอารมณ์ (emotional systems) รวมทั้งระบบซึ่งทำหน้าที่ให้รางวัลและสร้างความสุขเพลิดเพลิน (reward systems) ไปพร้อมกัน

.

ผลการทดลองข้างต้นทำให้ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การแสดงออกที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกภายในแบบท่าทีก้าวร้าวรุนแรงต่อสิ่งน่ารักนั้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการของสมอง ซึ่งต้องควบคุมสองระบบสำคัญที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเข้มข้นพร้อมกัน ทำให้สมองพยายามลดระดับอารมณ์เชิงบวกที่ท่วมท้นลง โดยใช้อารมณ์เชิงลบอย่างความโกรธหรือความเศร้าเข้ามาผสมผสานด้วย จนกลายเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ขัดแย้งกันขึ้นมา

.

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกต่อสิ่งน่ารักอย่างก้าวร้าวรุนแรงแบบ cute aggression ถือว่ามีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์อยู่เหมือนกัน โดย ดร.สตาโฟรปูลอส ให้คำอธิบายเอาไว้ว่า

.

“หากคุณมีความรู้สึกรักและชื่นชมเอ็นดูทารกอย่างท่วมท้น จนไม่กล้าแม้จะแตะต้องหรือขยับตัวเด็กเลย นั่นจะทำให้ทารกตายลงในที่สุดเพราะขาดอาหารและการดูแล แต่ถ้าคุณมีความรู้สึกมันเขี้ยวอยากกอดรัดฟัดเหวี่ยงหนูน้อย นั่นจะทำให้คุณกล้าสัมผัสจับต้องเด็กที่ดูบอบบาง และเกิดความคิดที่สมเหตุสมผลว่า ไม่มีสิ่งใดที่น่ารักเกินไปจนแตะต้องไม่ได้”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cp693ry64rxo