วิทยาการสมัยใหม่ทำให้มนุษย์เริ่มค้นพบว่า การลดความอ้วนนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและทำได้ยากกว่าที่คนทั่วไปคิดกัน โดยการใช้แค่พลังแรงใจและความอดทนเข้าสู้นั้นไม่เพียงพอ เพราะระบบควบคุมการรับรู้ปริมาณสารอาหารและความอิ่มในสมอง ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างถาวร

.

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Nature Metabolism ฉบับล่าสุด หลังทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า สมองของคนที่เป็นโรคอ้วนมีการตอบสนองทางประสาทแตกต่างออกไปจากสมองของคนที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ โดยมีการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน สารสื่อประสาทที่สร้างความรู้สึกเป็นสุขพึงพอใจและความอิ่มหลังกินอาหารได้น้อยมาก

.

สิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่งก็คือ ความผิดปกติในสมองของคนอ้วนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างถาวร โดยไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แม้คนอ้วนผู้นั้นจะลดน้ำหนักตัวลงได้สำเร็จถึงกว่า 10% แล้วก็ตาม

.

ดร. มิเรล์ เซอร์ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาต่อมไร้ท่อ (endocrinology) จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยบอกว่า มีการทดลองกับอาสาสมัคร 60 คน โดยใช้อุปกรณ์ fMRI และเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ ติดตามดูการทำงานของสมองส่วน striatum ซึ่งเป็นปมประสาทตรงฐานสมองที่ควบคุมความต้องการแสวงหาและบริโภคอาหาร

.

หลังจากอาสาสมัครได้รับอาหารเหลวที่เป็นไขมันและคาร์โบไฮเดรตทางสายยาง โดยต่อตรงเข้าที่กระเพาะอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของรสชาติและกลิ่นอาหาร ทีมผู้วิจัยได้ติดตามดูความเคลื่อนไหวของสมองส่วน striatum และระดับฮอร์โมนโดพามีนไปพร้อมกัน

.

เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักปกติ (ซ้าย) คนอ้วน (ขวา) แทบจะไม่มีการหลั่งฮอร์โมนโดพามีนเลย แม้จะได้รับอาหารที่เป็นไขมันหลังลดน้ำหนักลงถึง 10% แล้ว

ผลปรากฏว่าหลังจากรับอาหารทางสายยางไป 30 นาที อาสาสมัครที่เป็นคนอ้วน ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI สูงกว่า 30 ขึ้นไป ยังคงมีการทำงานของสมองส่วน straitum ที่ตื่นตัวในระดับสูง และแทบไม่มีการหลั่งโดพามีนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ได้รับอาหารประเภทไขมันเพียงอย่างเดียว

.

นั่นหมายความว่า คนอ้วนไม่เกิดความรู้สึกอิ่มและพึงพอใจจากอาหารที่ได้รับ และยังคงต้องการจะกินเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่กลุ่มคนน้ำหนักปกตินั้น สมองส่วน straitum จะหยุดทำงานและหลั่งโดพามีนสูงขึ้นหลังอาหาร

.

ความผิดปกติของตัวรับสัญญาณในสมองดังกล่าว ทำให้คนอ้วนรับรู้ปริมาณสารอาหารในกระเพาะและความอิ่มผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดขึ้นอย่างถาวรและไม่อาจแก้ไขได้ แม้คนอ้วนในการทดลองจะลดน้ำหนักให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้สำเร็จในภายหลัง ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปกินเกินขนาดจนอ้วนขึ้นเหมือนเดิม

.

ทีมผู้วิจัยแถลงสรุปผลการศึกษาว่า “แท้จริงแล้วความผิดปกติทางสมองนั้นเกิดจากความอ้วน และตัวมันเองไม่ใช่สาเหตุของความอ้วนอย่างที่เคยคิดกัน เราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้รู้ว่า ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้ทราบวิธีป้องกันและสามารถออกแบบวิธีลดความอ้วนซึ่งมีประสิทธิภาพและได้ผลถาวร”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/clj1l14egk3o