วันหยุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รายงานสถานการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีแถวศรีราชา/สีชัง ซึ่งพบว่าค่าออกซิเจนในมวลน้ำใกล้พื้นลดลงต่ำมาก จนทำให้พบสัตว์น้ำตาย
.
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat ได้ระบุถึงปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ถูกซ้ำเติมโดยกิจกรรมมนุษย์
.
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเปลี่ยนสีหลายแห่งในชลบุรี ใครไปทะเลจะเห็นน้ำสีเขียวมาจนถึงชายฝั่งหรือตามหาดบางแห่ง ออกไปถึงเกาะก็ยังเจอ
.
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดง่ายเมื่อฝนแรกๆ ตกลงมา ทำให้ธาตุอาหารลงทะเล ทั้งตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การเกษตร น้ำเสีย ฯลฯ
.
หากฝนตกๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง มีแดดแรงในบางช่วง จะกลายเป็นตัวเร่งทำให้แพลงก์ตอนพืชที่ได้ทั้งธาตุอาหารและแสงแดดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
.
แพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาลตายลงพร้อมกันและลงไปสู่พื้นทะเล เมื่อเกิดการย่อยสลายจะใช้ออกซิเจนจนถึงจุดวิกฤต ทำให้สัตว์น้ำบริเวณพื้นทะเลขาดออกซิเจนจนตาย
.
สังเกตจากกราฟของคณะประมง ที่ตรวจวัดใกล้พื้นเหลือออกซิเจนน้อยมาก
.
โลกร้อนเข้ามาเพิ่มความเสียหายแก่ท้องทะเล เพราะน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกปี (เคยเล่าไปแล้วครับ)
น้ำร้อนจะแบ่งชั้นกับน้ำเย็น น้ำร้อนอยู่ด้านบน น้ำเย็นอยู่ด้านล่าง
.
น้ำเย็นปรกติจะมีออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว อาศัยการแลกเปลี่ยนจากมวลน้ำชั้นบน
.
แต่เมื่อมวลน้ำร้อนเย็นต่างกันมาก แบ่งชั้นชัดเจน ทำให้ไม่ผสมผสาน ออกซิเจนในชั้นน้ำใกล้พื้นท้องทะเลยิ่งหมดไปเร็วขึ้น
.
สังเกตกราฟอีกที จะเห็นการแบ่งชั้นชัดเจน จากผิวน้ำถึงลึก 8 เมตร ออกซิเจนยังดีอยู่ แต่ลึก 8-10 เมตร ออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว
.
อย่างไรก็ตาม แพลงก์ตอนที่บลูมอยู่ตอนนี้เป็นชนิดปรกติ ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำที่จับมาได้ (ไม่ใช่ตักปลาตายในน้ำหรือบนหาดมากิน อันนั้นอาจท้องเสียซึ่งไม่เกี่ยวกับแพลงก์ตอน)
.
ผมเคยเล่าเรื่องแพลงก์ตอนบลูมหลายครั้ง หนนี้สถานีของคณะประมง มก. ออกสำรวจเก็บข้อมูลได้ทันเวลา จึงนำมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ
.
ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ทางทะเล นั่นคือเหตุผลว่าทำไมโลกยิ่งร้อน ทะเลยิ่งเกิดผลกระทบ เรายิ่งต้องทุ่มทุนกับการสำรวจศึกษาทางวิชาการ
.
ไม่งั้นเราจะไม่สามารถทำนายอะไรได้ และไม่สามารถป้องกัน/แก้ไข/รับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ครับ
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000060499