หนึ่งในสุดยอดนักภูมิคุ้มกันวิทยาที่โดดเด่นโลดโผนที่สุด นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ชีวิตที่เหลือเชื่อ...ชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ ในโลกนี้มีหลายคนที่น่าสนใจ แต่คนหนึ่งที่โดดเด่นมากและยังมีชีวิตคือ Polly Matzinger
ชื่อเต็มคือ Polly Celine Eveline Matzinger เป็นลูกครึ่งดัชต์-ฝรั่งเศส เกิดที่ฝรั่งเศสแม่เคยเป็นแม่ชี ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นช่างปั้นหม้อเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว พ่อเคยถูกจับเข้าคุกสมัยนาซีครองอำนาจเนื่องจากเป็นยิว หาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพจิตรกรและช่างไม้ ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ Polly อายุ 7 ขวบ
.
หลังจบมัธยม ความเห็นของครูในสมุดพกคือ “ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต”
เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ดี Polly ทำหลายอาชีพมาก่อนจะลงเอยมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา อาชีพเหล่านี้เธอเคยทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นเบสในวงดนตรีแจ๊ส ช่างไม้ คนฝึกสุนัข สาวเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ แม้กระทั่งนางกระต่ายในคลับเพลย์บอย (playboy bunny girl) จัดได้ว่าเป็นคนที่มีชีวิตโลดโผนน่าสนใจมาก...ตอนอายุ 25 Polly ทำงานในบาร์ที่แคลิฟอร์เนีย ลูกค้าประจำคือ ศาสตราจารย์ทางชีววิทยา 2 คน ดื่มไปก็พูดคุยกันไปหลายเรื่องทางชีววิทยารวมถึงพฤติกรรมของสัตว์ เนื่องจากนางรักสัตว์อยู่แล้วโดยเฉพาะสุนัขจึงฟังได้โดยไม่เบื่อ ฟังไปด้วยเสิร์ฟเบียร์ไปด้วย
.
วันหนึ่ง 2 ท่านนี้ถกกันเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ที่คล้ายกัน เช่น แมลงวันดอกไม้ (hoverfly) แต่งตัวเองให้ดูเด่นเพื่อดึงดูดเหยื่อ ซึ่งตัวต่อก็มีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน
.
Polly ถือวิสาสะร่วมการสนทนาโดยตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่มีสัตว์ตัวไหนที่เลียนแบบสกั๊ง เช่น ไม่เคยเห็นมีแรคคูนลายขาวดำเหมือนสกั๊ง”
.
หนึ่งในโปรเฟสเซอร์รู้สึกว่าเด็กคนนี้น่าสนใจเลยคุยยาวเรื่องวิทยาศาสตร์ และชมว่าการตั้งคำถามแบบนี้คือนิสัยของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง ต่อมาทุกครั้งที่มาที่บาร์นี้เขาจะนำวารสารทางวิทยาศาสตร์มาให้เสมอๆ และแนะนำให้นางเรียนชีววิทยา ชื่อของเขาคือ professor Robert Schwab ถือเป็นผู้ที่เห็นแววและชักนำ Polly สู่วงการวิทยาศาสตร์
.
Polly ใช้เวลา 11 ปี ถึงเรียนจบปริญญาตรีทางชีววิทยาจาก University of California, Irvine แต่ใช้เวลาแค่ 3 ปีจบปริญญาเอกทางชีววิทยาจาก University of California, San Diego หลังจากนั้นก็ไปทำเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ Basel Institute for Immunology ในสวิตเซอร์แลนด์ 6 ปี ก่อนย้ายมา NIH สังกัด NIAID (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) โดยเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ศึกษาเกี่ยวกับภาวะดื้อต่อการกระตุ้นและความจำของทีเซลล์ (T cell tolerance and memory section)
.
ถึงแม้จะมีงานการเป็นหลักเป็นฐานแล้ว Polly ก็ยังไม่ทิ้งความเกรียน 9 เดือนแรกในแล็บเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการทำแล็บจริงๆเกิดขึ้นเลย
.
ยิ่งไปกว่านั้นทั้งแล็บมีนางอยู่คนเดียว โดยช่วงนั้นนางศึกษาเรื่อง chaos theory (ภาษาไทยใช้คำว่า ทฤษฎีความอลวน) เป็นการศึกษาและอธิบาย โดยใช้คณิตศาสตร์และสถิติถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะโกลาหลคล้ายว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ แต่จริงๆแล้วไม่สุ่ม หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบ ที่มีระเบียบในความไม่มีระเบียบ (ยิ่งอธิบายยิ่งงง) แล็บของ Matzinger ในช่วงนี้ถูกเรียกว่า “ghost lab” ...ไม่รู้เพราะสาเหตุนี้หรือเปล่า ทาง NIAID จึงย้ายแผนกของ Matzinger มาอยู่กับ laboratory of Immunogenetics แทน
.
หลังจากนั้นนางก็เริ่มทำแล็บตามปกติเหมือนชาวบ้านเขา มีองค์ความรู้ต่างๆมากมายเกิดจากแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิเสธอวัยวะในการปลูกถ่าย (transplant rejection) ภูมิคุ้มกันวิทยาของมะเร็ง ภาวะภูมิต่อต้านตัวเอง (autoimmunity)
.
และที่สำคัญที่สุดคือเป็นคนเสนอความคิดที่ว่าภาวะการทำลายของร่างกายหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (innate immunity) ได้ และเกิดการอักเสบตามมา ในช่วงแรกเรียกว่า self danger ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในชื่อ DAMPs (damage-associated molecular patterns) ซึ่งสามารถอธิบายกลไกของการเกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกายจากการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายเองในโรค SLE
ความกล้าและท้าทายของนางทำให้บริษัท EpiVax ซึ่งเป็นบริษัททางเทคโนโลยีชีวภาพชื่อดัง ตั้งรางวัล Polly Matzinger Fearless Scientist award เพื่อให้รางวัลและให้ทุนการวิจัยสำหรับนักวิทยาศาสตร์สุภาพสตรีที่กล้าท้าทายความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
.
ความบ้าที่ชัดเจนของ Polly คือการที่ส่งบทความไปลงวารสาร journal of experi mental immunology ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำทางภูมิคุ้มกันวิทยา แต่ด้วยความไม่ชอบการใช้รูป passive voice ที่ปกติใช้กันในวารสาร เช่น “it was shown…, it was decided…” นางเปลี่ยนไปใช้ “we believed…, we showed…, we decided”
.
ปัญหาคือ งานนี้ Polly ทำคนเดียว แต่ด้วยความที่ไม่อยากเขียนว่า “I believed… I showed… I decided…” นางเลยตัดสินใจใส่ชื่อสุนัขที่เลี้ยงเป็นผู้นิพนธ์ร่วม (co-author) ให้ชื่อว่า Galadriel Mirkwood ดังนั้นบทความนี้จึงถูกตีพิมพ์ในชื่อผู้ประพันธ์คือ Matzinger and Mirkwood
.
พอความแตกว่า Mirkwood ผู้นิพนธ์ร่วมดันเป็นสุนัขไม่ใช่คน ทางบรรณาธิการวารสาร journal of experimental immunology ยัวะมาก ไม่รับบทความของ Polly ลงวารสารนี้อีกเลยจนบรรณาธิการตาย
.
Polly Matzinger นับเป็นสตรีที่บุกเบิกวงการภูมิคุ้มกันวิทยาสำหรับนักวิทยาศาสตร์หญิงโดยแท้จริง ทำให้วงการเริ่มยอมรับความเก่งของนักภูมิคุ้มกันวิทยาสตรีอย่างเท่าเทียม
.
ปัจจุบัน Polly อายุ 69 ปี ยังมีความสุขกับการทำทุกอย่างที่ใจรัก ไม่ว่าจะฝึกสุนัข และทำงานวิจัยที่ท้าทายทางภูมิคุ้มกันวิทยา ไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก ครอบครัวที่นางมีคือเหล่าสุนัขของนาง
.
ของหนึ่งในสุดยอดนักภูมิคุ้มกันหญิงที่โดดเด่นโลดโผนที่สุด
บทความโดย นพ.ดร.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ.
หมอดื้อ
https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2707976