ทีมนักสมุทรศาสตร์จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกที่น่าตกใจว่า พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของผืนมหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน

.

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในน้ำทะเลอย่างไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) ซึ่งใช้สารคลอโรฟิลล์สีเขียวและกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงผลิตพลังงานให้กับตัวเอง ต่างเติบโตและเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด ระบุว่าแม้ปรากฏการณ์นี้จะทำให้โลกดูเป็นสีเขียวมากขึ้น ทว่ากลับไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เนื่องจากการเติบโตเกินขีดจำกัดของประชากรแพลงก์ตอน จะทำให้ผืนน้ำโดยรอบขาดออกซิเจนจนกลายเป็นเขตมรณะ (hypoxic dead zone) ซึ่งยากที่สิ่งมีชีวิตจะเหลือรอดและอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้

.

ทีมผู้วิจัยซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ (NOC) ในเมืองเซาแทมป์ตันของสหราชอาณาจักร ชี้ว่าผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมที่รวบรวมมาเป็นเวลานานถึง 20 ปีนั้น เพียงพอที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศผิวน้ำในมหาสมุทรได้

.

ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวเป็นภาพจากการสะท้อนแสงของผิวมหาสมุทร ซึ่งบันทึกไว้โดยดาวเทียม MODIS-Aqua โดยสีของน้ำทะเลที่ตรวจจับได้จากการสะท้อนแสงดังกล่าว บ่งบอกถึงจำนวนประชากรของไฟโตแพลงก์ตอนได้แม่นยำกว่าวิธีดั้งเดิมอื่น ๆ อย่างเช่นค่าประมาณการของระดับสารคลอโรฟิลล์ในผิวน้ำ

.

ความเปลี่ยนแปลงที่พบคือผืนมหาสมุทรบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งกินบริเวณกว้างเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่หยุดยั้งของประชากรไฟโตแพลงก์ตอน

.

เมื่อนำแบบแผนการขยายตัวของน้ำทะเลสีเขียวนี้ไปตรวจสอบ โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมผู้วิจัยพบว่ามันสอดคล้องกันพอดีกับแบบแผนความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน คือปัจจัยสำคัญที่เร่งให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีและมีออกซิเจนลดลง

.

แม้ไฟโตแพลงก์ตอนจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และช่วยให้เกิดการจมคาร์บอนลงสู่ก้นมหาสมุทรได้มากขึ้น แต่การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างเกินขีดจำกัดของมัน ไม่ได้ทำให้ภาวะโลกร้อนชะลอตัวหรือบรรเทาความรุนแรงลง เนื่องจากการที่น้ำทะเลเน่าเสียขาดออกซิเจน จะส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารหลักของท้องทะเลถูกทำลายไปด้วย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c1d755j1dppo