ต่อมไทมัสจะเหี่ยวแห้งไปหลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ต่อมขนาดเล็กที่อุดมด้วยไขมัน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังกระดูกสันอกและด้านหน้าของหัวใจ ถือเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่เรียกว่าต่อมไทมัส (Thymus gland)

.

ฮอร์โมนที่ต่อมไทมัสผลิตออกมา จะช่วยในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งเป็นด่านหน้าของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย แต่ทว่าต่อมไทมัสนี้จะเหี่ยวแห้งไปเมื่อคนเราย่างเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ทำให้เหล่าคุณหมอคิดว่ามันเป็นอวัยวะที่ไร้ประโยชน์แล้ว และมักจะตัดทิ้งเมื่อทำการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นบางอย่าง

.

แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมทั้งจากโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ในนครบอสตันของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับต่อมไทมัสลงในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine โดยชี้ว่าการตัดต่อมไทมัสทิ้งไปนั้น ส่งผลเสียร้ายแรงโดยเป็นอันตรายถึงชีวิตกับคนไข้วัยผู้ใหญ่ที่ถูกตัดต่อมดังกล่าวได้

.

ผลการศึกษาข้างต้น มาจากการติดตามรวบรวมข้อมูลสุขภาพของคนไข้ชาวอเมริกันกว่า 7,000 ราย เป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกตัดต่อมไทมัสออกรวมอยู่ด้วย 1,146 ราย

.

ทีมผู้วิจัยพบว่า ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเอาต่อมไทมัสทิ้งไปนั้น มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตลงจากโรคร้ายภายใน 5 ปีถัดมา ในอัตราที่สูงกว่าคนที่ยังมีต่อมไทมัสอยู่ถึง 2 เท่า ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดสูงกว่าถึง 2 เท่าด้วย

.

ศัลยแพทย์อาจต้องทบทวนวิธีรักษาโรคด้วยการตัดต่อมไทมัสทิ้งเสียใหม่

นอกจากนี้ โรคมะเร็งในผู้ป่วยที่ได้ผ่าตัดเอาต่อมไทมัสออก มักเป็นโรคมะเร็งที่มีอาการรุนแรงกว่าและเกิดซ้ำได้บ่อยกว่าแม้รับการรักษาแล้ว เมื่อเทียบกับกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ที่ยังคงมีต่อมไทมัสอยู่ในร่างกาย

.

ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ต่อมไทมัสที่เหี่ยวแห้งไปแล้วยังคงมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการป้องกันเซลล์มะเร็งก่อตัวในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากคนที่ปราศจากต่อมไทมัสจะมีความหลากหลายของตัวรับทีเซลล์ (T-cell receptors) ในเลือด ลดลงไปมาก

.

แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกเบื้องหลังที่ทำให้การขาดต่อมไทมัสเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทีมผู้วิจัยได้กล่าวสรุปว่า “ผลการศึกษาของเราสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ต่อมไทมัสยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างทีเซลล์ใหม่ในวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งการรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมให้เป็นปกติ”

.

“การพิจารณาเก็บรักษาต่อมไทมัสเอาไว้โดยไม่ตัดทิ้งไปง่าย ๆ ควรจะเป็นสิ่งที่ศัลยแพทย์คำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อคนไข้นั้นอาจสูงมากจนคาดไม่ถึง”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c8v5jym9pego