หากปล่อยให้ตัวอ่อนเทียมเติบโตถึง 9 สัปดาห์ มันจะกลายสภาพเป็นทารกเช่นนี้หรือไม่ ?
นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ สร้างสิ่งที่คล้ายคลึงกับตัวอ่อนมนุษย์ หรือเอ็มบริโอ โดยไม่ใช้สเปิร์ม ไข่ หรือมดลูกแต่อย่างใด
.
นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ระบุว่า “ตัวแบบเอ็มบริโอ” นี้ สร้างขึ้นโดยใช้สเต็มเซลล์เป็นส่วนประกอบ จนออกมาเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงอย่างมากกับเอ็มบริโอ หรือตัวอ่อนมนุษย์ อายุ 14 วัน อย่างที่เราเรียนกันในหนังสือ
.
สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่จำเพาะ มันต้องได้รับการกระตุ้นและสั่งการจากร่างกาย เพื่อกลายเป็นเซลล์จำเพาะต่าง ๆ ดังนั้น มันจึงสามารถเปลี่ยนเแปลงไปเป็นเซลล์ต่าง ๆ ได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์กระดูก หรือเซลล์ประสาท
.
สำหรับ ตัวอ่อนมนุษย์เทียม ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมานั้น มันสามารถปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้ผลตรวจการตั้งครรภ์กลายเป็นบวก (ตั้งครรภ์) ได้อีกด้วย
.
จุดประสงค์ของการสร้างตัวอ่อนมนุษย์เทียมขึ้นมานี้ เพื่อเป็นแนวทางอย่างมีจริยธรรม เพื่อทำความเข้าใจจุดแรกเริ่มสุดของการกำเนิดมนุษย์ นั่นคือ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกหลังสเปิร์มผสมพันธุ์กับไข่
.
เพราะช่วงเวลานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายอย่าง จนก่อให้เกิดการก่อตัวของเซลล์ที่ท้ายสุด สามารถสแกนตรวจสอบและปรากฏเป็นรูปร่างคล้ายทารกได้
.
จุดสีฟ้าคือ เอ็มบริโอ สีเหลืองคือถุงไข่แดง และสีชมพูคือเซลล์รก
หากเราเข้าใจช่วงเวลาสำคัญนี้ จะมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจถึงการแท้งบุตร และข้อบกพร่องของทารกแรกเกิด
.
“มันคือกล่องดำ... เพราะองค์ความรู้ของเราในเรื่องนี้ มันจำกัดมาก” ศาสตราจารย์ จาค็อบ ฮันนา จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ กล่าวกับบีบีซี
.
จริยธรรมการสร้างมนุษย์เทียม
.
การวิจัยเรื่องตัวอ่อนมนุษย์นั้น ในปัจจุบัน ถือว่าผิดกฎหมาย ขัดหลักจริยธรรม และเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งมากมาย แต่ตอนนี้ กำลังเกิดแนวทางให้สามารถวิจัยได้ ด้วยพัฒนาตัวอ่อนจำลอง โดยที่ไม่ได้ใช้สเปิร์ม ไข่ หรือมดลูก จากมนุษย์เลย
.
ผลการวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ โดยทีมวิจัยชาวอิสราเอล และถือเป็น “ตัวแบบเอ็มบริโอ” ที่สมบูรณ์ที่สุดแรกของโลก ที่จำลองโครงสร้างสำคัญต่าง ๆ ของตัวอ่อนมนุษย์ของจริงได้
.
“มันคือภาพตัวอ่อนมนุษย์วัย 14 วัน เหมือนที่เราเห็นกันในหนังสือเรียน” ศาสตราจารย์ฮันนา กล่าว “เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
.
แทนที่จะใช้สเปิร์มหรือไข่ นักวิจัยได้ใช้วัตถุดิบตั้งต้น คือ สเต็มเซลล์ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลง จากนั้น ทีมวิจัยได้ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ แปรสภาพกลายเป็นเซลล์ 4 ประเภท ที่จำเป็นต่อการกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ คือ
.
- เซลล์เอพิบลาสท์ (epiblast cells) ที่เกิดขึ้นระหว่างการเกิดเอ็มบริโอ
- เซลล์โทรโฟบลาสท์ (trophoblast cells) ที่ต่อมาจะกลายสภาพเป็นรก
- เซลล์ไฮโปบลาสท์ (hypoblast cells) ที่จะกลายเป็นถุงไข่แดง
- เซลล์เอกตราเอมไบรโอนิค เมสโซเดิร์ม (extraembryonic mesoderm)
.
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้นำเซลล์ 4 แบบนี้ รวมจำนวน 120 เซลล์ มาผสมกันในอัตราที่แม่นยำ แล้วปล่อยให้พวกมันเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน แล้วสังเกตการณ์
.
ส่วนผสมของเซลล์เหล่านี้ ในอัตราส่วน 1% เริ่มการก่อตัวอย่างต่อเนื่องแทบในทันที กลายเป็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับตัวอ่อนของมนุษย์ แต่ยังไม่เหมือนกันแบบชัดเจน
.
“ต้องชื่นชมเซลล์พวกนี้จริง ๆ คุณแค่นำส่วนผสมที่ถูกต้อง และให้มันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช่ พวกมันก็ทำงานเองได้เลย” ศาสตราจารย์ฮันนา ระบุ “เป็นปรากฏการณ์ที่เยี่ยมยอดมาก”
.
นักวิทยาศาสตร์ปล่อยให้ตัวแบบเอ็มบริโอ เติบโตและพัฒนาจนเทียบเท่าตัวอ่อนอายุ 14 วัน เพราะกฎหมายหลายประเทศกำหนดว่า การวิจัยด้านตัวอ่อนมนุษย์ ไม่สามารถดำเนินไปไกลมากกว่านั้นแล้ว
.
บีบีซีได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ฮันนา ที่ได้ชี้ให้เห็นตัวแบบ 3 มิติของตัวอ่อนที่พวกเขาสร้างขึ้น โดยสามารถเห็นเซลล์ที่จะกลายเป็นรกได้ชัดเจน รวมถึงส่วนโพรงต่าง ๆ ที่จะใช้นำสารอาหารจากเลือดของแม่ไปหล่อเลี่ยงทารกในครรภ์
.
เรายังเห็นได้ถึงถุงไข่แดง ที่ทำหน้าที่คล้ายตับและไต รวมถึงส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ ต่อการพัฒนาตัวอ่อน อีกด้วย
.
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การสร้างตัวแบบเอ็มบริโอนี้ขึ้น จะช่วยอธิบายถึงกระบวนการที่เซลล์แต่ละชนิดได้ก่อกำเนิดขึ้น รวมถึงสังเกตการณ์ถึงขั้นตอนแรกเริ่มของการสร้างอวัยวะของมนุษย์ รวมถึงทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่โรคทางพันธุกรรม สืบทอดจากพ่อแม่ไปยังบุตร อีกด้วย
.
ผลการศึกษาในขั้นต้น พบว่า ส่วนต่าง ๆ ของตัวอ่อนจะยังไม่ก่อตัวขึ้น จนกว่าเซลล์รกจะขยายตัวเข้าล้อมรอบพวกมัน
.
นักวิทยาศาสตร์ยังเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่า หากการศึกษานี้ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ตัวอ่อนล้มเหลว (แท้งลูก) หรือการใช้ตัวยาจะช่วยทำให้ครรภ์ปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร อาจช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วได้ด้วย
.
ศาสตราจารย์ โรบิน โลเวลล์ แบดจ์ ที่วิจัยการพัฒนาตัวอ่อนให้กับสถาบันฟรานซิส คริก บอกกับบีบีซีว่า ตัวแบบเอ็มบริโอนี้ “ดูดีทีเดียว” และ “ดูปกติมาก”
.
“ผมคิดว่ามันดีเลย สร้างขึ้นได้อย่างดี ดูสมเหตุสมผล และผมค่อนข้างประทับใจ” เขากล่าว
.
อย่างไรก็ดี ส่วนผสมเซลล์อีก 99% ที่ล้มเหลวนั้น ยังถือเป็นส่วนที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น มิเช่นนั้น การจะทำความเข้าใจถึงการแท้งบุตร หรือภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ จะเป็นไปได้ยาก หากตัวแบบเอ็มบริโอล้มเหลวเองเป็นส่วนใหญ่อย่างนี้
.
ผิดกฎหมายหรือไม่
.
ทีมนักวิจัยยอมรับว่า ความสำเร็จนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับได้ หากพัฒนาตัวอ่อนมนุษย์จำลองเกิน 14 วัน
.
หากเป็นในสหราชอาณาจักร การทำเช่นนั้นถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะตัวแบบเอ็มบริโอ มีความแตกต่างจากตัวอ่อนมนุษย์ของจริง
.
“บางคนยินดี แต่คนอื่น ๆ คงไม่พอใจ” ศาสตราจารย์ โลเวลล์-แบดจ์ กล่าว
.
และหากตัวแบบนี้ คล้ายคลึงกับเอ็มบริโอมนุษย์จริง ๆ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมมากขึ้นเท่านั้น แม้ในข้อเท็จจริง นี่ไม่ใช่เอ็มบริโอมนุษย์ตามปกติ เป็นเพียงตัวแบบ แต่ก็เหมือนกันอย่างมาก
.
“คำถามคือ เราควรจะควบคุมดูแลตัวอ่อนเทียมเหล่านี้ เหมือนกับตัวอ่อนมนุษย์หรือไม่ คุณจะยอมรับได้ไหม กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนเทียม”
.
อย่างไรก็ดี นักวิจัยยืนกรานว่า การนำตัวอ่อนเทียมนี้ พัฒนาจนกลายเป็นการตั้งครรภ์ หรือทารกเทียมขึ้นมาจริง ๆ ยังถือเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมาย และเป็นไปไม่ได้เลย
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cyjwxx12gz3o