ตัวอย่างของพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะ

มีข้อมูลที่ชี้ว่า มีคนบนโลกใบนี้ที่ต้องถูกตัดแขนขาเนื่องจากแผลที่มาจากอาการเบาหวานทุก ๆ 30 วินาที แต่ในเวลานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังพัฒนา “พลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะ" ที่หวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงสถิติอันเลวร้ายข้างต้นแล้ว

.

เอห์ซาน เชอร์ซา ซุนนี วิศวกรการแพทย์ จากสถาบันวิจัย California Institute of Technology เปิดเผยว่า ในเวลานี้ นักวิจัยของสถาบันฯ กำลังพัฒนาพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะที่สามารถใช้กับแผลเรื้อรังได้อยู่

.

เอห์ซาน เชอร์ซา ซุนนี วิศวกรการแพทย์ จากสถาบันวิจัย California Institute of Technology

เชอร์ซา ซุนนี กล่าวว่า “เซ็นเซอร์ประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในแผ่นแปะนี้ สามารถตรวจสอบสถานะของบาดแผลที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสมานแผล และเมื่อเวลาผ่านไปเราสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณแผล และให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง”

.

เซ็นเซอร์ในแผ่นแปะนี้มีความสามารถที่จะเฝ้าติดตามระดับกรดยูริก กลูโคส แอมโมเนีย และแลคเตท รวมถึงค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่าง และอุณหภูมิของแผลที่อาจจะแสดงสัญญาณของการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย

.

ตัวเซนเซอร์ของพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะ

พลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะยังสามารถใช้สนามไฟฟ้าระดับต่ำเพื่อกระตุ้นกระบวนการบำบัดซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า ในการทดสอบกับหนูทดลอง พิสูจน์แล้วว่าการใช้งานดังกล่าวมีประสิทธิภาพ

.

การทดลองพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะกับหนูทดลอง

ทีมวิจัยเปิดเผยว่า จะมีการดำเนินขั้นตอนทดสอบพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะในมนุษย์ภายใต้ความร่วมมือกับวิทยาลัยแพทย์เค็ค (Keck School of Medicine) ขอบมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California - USC)

.

ดร. เดวิด อาร์มสตรอง อาจารย์ด้านศัลยกรรมจาก USC กล่าวว่า ผลการทดสอบของเทคโนโลยีดังต่อประเด็นการตัดแขนขาในกรณีของการเกิดบาดแผลจากอาการป่วยเบาหวานที่ได้ออกมานั้นเป็นรูปธรรมไม่น้อย

.

ดร. เดวิด อาร์มสตรอง อาจารย์ด้านศัลยกรรมจาก University of Southern California

ดร. อาร์มสตรอง อธิบายเสริมว่า แพทย์และนักวิจัยนั้นทุ่มเทความพยายามที่จะไม่ให้ต้องมีกรณีการตัดแขนขาในอนาคต โดยเริ่มจากการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลจากอาการป่วยโรคเบาหวาน แต่ถ้าหากเกิดมีบาดแผลดังกล่าวขึ้นจริง ก็จะพยายามทำการรักษาให้หายให้ได้มากเท่าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ อันได้แก่ เซ็นเซอร์อัจฉริยะนั่นเอง

.

อาจารย์ด้านศัลยกรรมจาก USC กล่าวด้วยว่า แนวคิดเรื่องพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะจะสามารถนำไปใช้ได้จริงมากขึ้น เนื่องจากแบตเตอรีที่มีขนาดเล็กลง อีกทั้งยังมีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เราจะสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือจากการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเองมาจ่ายให้กับแผ่นแปะล้ำสมัยนี้ได้แล้ว

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/smart-bandages-monitor-and-heal-wounds/7253817.html