คนหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานที่จะต้องตื่นเช้าจำนวนไม่น้อย มักติดนิสัยกดปุ่ม “สนูซ” (snooze) หรือปุ่มเลื่อนเวลาส่งเสียงร้องของนาฬิกาปลุก หลังจากงัวเงียลืมตาตื่นขึ้นมาครั้งแรก โดยหวังที่จะได้นอนพักต่ออีกสักหน่อยแค่ไม่กี่นาทีก็ยังดี
.
แต่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การกดปุ่มสนูซบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพการนอนและประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างวันได้ เพราะการนอนต่อช่วงสั้น ๆ นั้น นอกจากจะไม่ช่วยเติมเต็มการนอนหลับให้เต็มอิ่มอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้เราตื่นขึ้นขณะสมองเข้าสู่วงจรหลับลึก (deep sleep cycle) ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียง่วงค้างไปทั้งวันได้
.
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสตอล์กโฮล์มของสวีเดน และมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research เผยว่าพฤติกรรมกดปุ่มสนูซของนาฬิกาปลุกไม่ใช่เรื่องเสียหาย และอาจส่งผลดีต่อการทำงานของสมองในบางคนด้วยซ้ำ หากเราตั้งเวลาที่จะนอนต่อไว้ 30 นาที
.
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการทดลองกับอาสาสมัคร 31 คน ในห้องปฏิบัติการ และจากผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจบุคคลทั่วไป 1,732 ราย เพื่อดูว่าคนส่วนใหญ่มีนิสัยชอบกดปุ่มสนูซกันมากน้อยแค่ไหน และมักจะทำในรูปแบบใดกันบ้าง รวมทั้งมีผลต่อร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมดังกล่าวอย่างไร
.
ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถามพบว่า ผู้คนจำนวนมากถึง 69% เคยใช้ปุ่มสนูซต่อเวลาการนอนออกไปหรือตั้งเวลาปลุกไว้หลายช่วง “ในบางครั้ง” แต่โดยเฉลี่ยแล้วมักจะตั้งเวลานอนต่อไว้ที่ 22 นาที โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและมีแนวโน้มเป็นพวกที่ตื่นตัวในตอนกลางคืน (evening type)
.
ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 71% มีพฤติกรรมกดปุ่มสนูซเฉพาะในช่วงวันทำงานของแต่ละสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทำเช่นนั้นเพราะตื่นนอนแล้วยังรู้สึกเหนื่อย, นอนต่อแล้วรู้สึกดี, รวมทั้งต้องการจะตื่นขึ้นอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าลุกจากเตียงทันที
.
สำหรับผลของการกดปุ่มสนูซที่มีต่อร่างกายและจิตใจนั้น มีการเก็บตัวอย่างน้ำลายจากอาสาสมัคร 31 คน ที่มีพฤติกรรมเลื่อนเวลาปลุกของนาฬิกาอยู่เป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยทั้งหมดเข้าร่วมการทดลองนอนในห้องปฏิบัติการ และมีการทดสอบประสิทธิภาพของสมองในด้านการใช้ความคิดและความจำหลังตื่นขึ้นด้วย
.
ผลปรากฏว่าการตั้งเลื่อนเวลาปลุกไว้ที่ 30 นาที ไม่ส่งผลเสียหายต่อการใช้ความคิดหลังตื่นนอน โดยคนกลุ่มนี้ยังคงรู้สึกว่าสมองแจ่มใสและสามารถทำคะแนนในแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ได้เป็นปกติ บางรายถึงกับมีประสิทธิภาพในการใช้สมองดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
.
ส่วนผลกระทบจากการกดปุ่มสนูซต่อระดับฮอร์โมนความเครียด, อารมณ์, และความง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวันนั้น ทีมผู้วิจัยบอกว่าได้ผลออกมาไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยการตั้งเลื่อนเวลาปลุกไว้ที่ 30 นาที ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้
.
“ผลการทดลองของเราชี้ว่า การกดปุ่มเลื่อนเวลาของนาฬิกาปลุกในตอนเช้า ไม่ใช่เรื่องเสียหายอย่างที่เคยคิดกัน การตั้งเวลานอนต่อไว้ที่ 30 นาที ช่วยบรรเทาความง่วงและอาการงัวเงียเมื่อตื่นขึ้น ทั้งยังอาจช่วยให้สมองตื่นตัวยิ่งกว่าเดิมในบางคนด้วย” ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c51jjmjqz55o