ภาพชายเดินเข้าร้านขายผลิตภัณฑ์กัญชาในมหานครนิวยอร์ก (ที่มา: เอพี/แฟ้มภาพ)
แม้หลายคนเชื่อว่ากัญชาเป็นตัวเลือกในการรักษาสารพัดโรค แต่งานวิจัยที่ออกมาใหม่กลับเสนอผลตรงกันข้าม ในขณะที่ภาคธุรกิจยังมีความหวังในตลาดของพืชใบห้าแฉกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมัน
.
กัญชาและผลิตภัณฑ์จากพืชใบห้าแฉก กลายเป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคที่หาวิธีการรักษาโรควิตกกังวล (anxiety disorder) ในแนวทางใหม่ ๆ เนื่องจากประสบปัญหาที่ว่า วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมมีจำนวนไม่เพียงพอ และอาจไม่มีประสิทธิภาพสำหรับบางคน
.
แม้พืชชนิดนี้จะเป็นความหวังให้กับทั้งตัวผู้ใช้ และห้างร้านต่าง ๆ ที่พยายามจะขายผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็ตาม แต่สื่อสหรัฐฯ The Wall Street Journal รายงานว่า ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงน้อยนิด ที่บ่งชี้ว่ากัญชาสามารถรักษาโรควิตกกังวลได้ มิหนำซ้ำอาจจะทำให้อาการแย่ลงเสียด้วย
.
งานวิจัยในปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการ Canadian Journal of Psychiatry เผยว่าการใช้กัญชา มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อการเกิดภาวะวิตกกังวล ซึ่งถือเป็นอาการป่วยไข้ทางจิตชนิดหนึ่ง และยังมีรายงานในปี 2018 ที่ระบุว่า คนที่มีความผิดปกติในด้านอารมณ์และมีภาวะวิตกกังวลขั้นร้ายแรง กลายเป็นผู้ที่เข้ามาใช้กัญชาในช่วงระยะเวลาที่ทำการสำรวจ
.
ธุรกิจยังหาที่ทางต่อไป
ในด้านธุรกิจ หลังการทำให้กัญชาในสหรัฐฯ ถูกกฎหมาย รายได้จากพืชชนิดนี้ยังผิดไปจากการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจฟฟรีย์ มิรอน ที่ประเมินไว้ว่าจะมีมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 1 ล้านล้านบาท) ไปถึงครึ่งหนึ่ง กระนั้น ภาคธุรกิจก็ยังคงโหมกระพือแนวคิดที่ว่ากัญชายังมีผลในการช่วยคนจากอาการวิตกกังวลได้
.
เมื่อปี 2022 ผลการสำรวจจากแฮร์ริส โพล ที่ทำให้กับบริษัทขายกัญชาที่ชื่อ Curaleaf บริษัทขายกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ พบว่า 54% ของผู้ใหญ่ 2,000 คน ตอบแบบสำรวจว่าเคยใช้กัญชามาก่อน และในจำนวนนั้น มี 41% ที่ระบุว่าเคยใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการวิตกกังวล สะท้อนถึงจำนวนผู้ใช้พืชชนิดนี้ที่มีเป็นจำนวนมาก
.
เออร์วิน เดวิด ไซมอน ประธานบริหารของ Tilray Brands บริษัทขายกัญชาแห่งแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ กล่าวในการสัมภาษณ์กับ WSJ ว่า กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษาอาการต่าง ๆ นอกจากการใช้ยา รวมถึงอาการวิตกกังวลด้วย และธุรกิจกัญชาก็เป็นตลาดที่ดีที่ลูกค้าซื้อไปแล้วก็กลับมาซื้อซ้ำ
.
โจเซฟ บาเยิร์น ประธานบริหารของ Curaleaf กล่าวกับนักลงทุนเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ว่าการนำกัญชาเข้าไปในตลาดผู้บริโภคแอลกอฮอล์ หรือผู้มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ มีภาวะวิตกกังวล รวมถึงตลาดผู้ใช้สารสกัดจากฝิ่นเพื่อบรรเทาปวด ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่กัญชาสามารถเข้าไปมีที่ทางได้
.
โฆษกของ Curaleaf ระบุว่าลูกค้าส่วนมากที่มาซื้อกัญชา ทั้งนี้ ทางบริษัทไม่ได้เจาะจงมาที่ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ และแนะนำให้ลูกค้าปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะใช้กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษา
.
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เสียงจากจิตแพทย์ก็ระบุว่าผู้ป่วยยังคงมีอาการวิตกกังวลเหมือนเดิมหลังจากใช้กัญชา เพียงแต่อาการเมาอาจจะช่วยบรรเทาความกังวลไปได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
.
เบธ ซัลเซโด จิตแพทย์และผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ Ross Center ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการโรควิตกกังวล จากกรุงวอชิงตัน ระบุว่า “ฉันมีคนไข้ที่ใช้มัน (กัญชา) ทุกวัน เขาก็บอกว่ามันช่วยได้มาก” แต่ “ที่ฉันจะบอกก็คือ ถ้ามันช่วยคุณได้จริง ๆ คุณก็คงไม่ต้องมาเจอฉันที่นี่”
.
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกัญชาก็มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อทำการวิจัยเช่นกัน ในการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2022 ของนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือคลินิกที่ใช้กัญชาในการรักษาในแคนาดา ระบุว่าผู้ใช้กัญชารักษาอาการวิตกกังวลต่างมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในบางการสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าอาการวิตกกังวลนั้นบรรเทาลงหลังบริโภคกัญชา
.
และแม้จะมีหลักฐานอยู่บ้างว่าสาร CBD ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเคมีไม่มีพิษที่สกัดได้จากกัญชา จะช่วยบรรเทาภาวะวิตกกังวลได้ แต่ก็มีข้อยืนยันในทางวิทยาศาสตร์อย่างจำกัด โดยภาคธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์ต่างระบุว่าข้อบังคับจากรัฐบาลกลางมีส่วนในการขัดขวางไม่ให้มีการวิจัยเรื่องกัญชา
.
ซิวา คูเปอร์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ของศูนย์กัญชาและสารจากกัญชา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอส แองเจลิส กล่าวว่า ความซับซ้อนของพืชกัญชา และผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่มีหลายประเภท ทำให้มีความยุ่งยากในการศึกษาว่าใช้กัญชาอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะหากเป็นยาแผนปัจจุบัน จะมีแนวทางการใช้งานและการทดสอบที่เข้มงวด แต่กับกัญชานั้นยังไม่มีแนวทางปฏิบัติเช่นนั้น
.
ใช้กัญชาอาจเสี่ยงเสพติด และกระทบการบำบัด
แอนน์ มารี อัลบาโน ผอ. คลินิกด้านความวิตกกังวลและภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่าแนวทางรักษาแบบปกติ จะออกแบบตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่ทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์ แต่การเมากัญชาอาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาที่ออกแบบไว้
.
WSJ รายงานว่า การใช้กัญชาเป็นประจำมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเสพติดได้ ข้อมูลจากรัฐบาลกลางระบุว่า จากจำนวนผู้ใช้กัญชาที่มีการบันทึกไว้เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามี 30% มีภาวะการเสพติด นอกจากนั้น งานวิจัยอีกชุดยังระบุว่าผู้ใช้กัญชามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะภาพหลอนและภาวะทางจิตเพิ่มขึ้นด้วย
.
จอร์แดน เดวิดสัน อายุ 22 ปี เป็นผู้ใช้สารสกัด THC เข้มข้น เพื่อรักษาภาวะวิตกกังวลเช่นกัน โดยในช่วงแรกเขารู้สึกว่ามันช่วยได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวและนอนไม่หลับ จึงตัดสินใจที่จะขอความช่วยเหลือ และต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มที่พยายามส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายว่าสารนี้มีอันตราย
.
เดวิดสันกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าผมถูกหลอก [ให้เชื่อว่า] มันไม่เสพติด มันเป็นแค่พืช มันจะรักษาภาวะวิตกกังวล”
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/cannabis-may-has-adverse-affect-as-medical-research-says/7328733.html