ภาพดาวเสาร์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ระหว่างปี 1996 – 2000 (จากซ้ายไปขวา)

นับจากนี้ไปราวหนึ่งปีครึ่ง หรือคิดเป็นระยะเวลา 18 เดือน บรรดาช่างภาพดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น รวมทั้งแฟนพันธุ์แท้นักดูดาว จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เนื่องจากภาพของดาวเสาร์ (Saturn) ที่สายตาของเราคุ้นชินเมื่อใช้กล้องส่องดูท้องฟ้า จะเปลี่ยนไปโดยไม่มีวงแหวนอันเป็นเอกลักษณ์ให้เห็นเหมือนเคย

.

อันที่จริงแล้ว วงแหวนของดาวเสาร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์นั้น มีขนาดมหึมาจนไม่น่าจะมีอะไรมาบดบังให้พ้นสายตาของเราไปได้ โดยวงแหวนแถบที่สุกสว่างมองเห็นง่ายที่สุด มีเส้นรอบวงความยาว 70,000 – 140,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างพอจะบรรจุโลกลงไปได้ถึง 30 ใบเลยทีเดียว

.

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความหนาของวงแหวนเหล่านี้ต่ำมาก จนแทบจะกล่าวในเชิงเปรียบเทียบได้ว่าบางเหมือนแผ่นกระดาษ เพราะมีความหนาโดยเฉลี่ยเพียง 100 เมตรเท่านั้น ทำให้คนบนโลกมองไม่เห็นมิติความหนาของวงแหวนดาวเสาร์ เมื่อสังเกตจากระยะทางที่ห่างออกไปถึงกว่า 1,200 ล้านกิโลเมตร

.

ด้วยเหตุที่วงโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์อยู่ในระนาบเอียง โดยมีองศาการเอียงของระนาบดังกล่าวแตกต่างไปจากดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ ทำให้เราสามารถมองเห็นวงแหวนได้ถนัด ขณะที่ดาวเสาร์เอียงทำมุมในองศาต่าง ๆ กับโลก

.

แต่ในระหว่างการโคจรรอบดวงอาทิตย์บางช่วง เราอาจจะมองเห็นดาวเสาร์มีหน้าตาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่ดาวเสาร์ไม่ได้เอียงทำมุมหรือทำมุม 0 องศา จนทำให้วงแหวนของมันอยู่ในแนวทับซ้อน ขนานไปกับระนาบสายตาของมนุษย์บนโลกพอดี

.

ภาพดาวเสาร์ที่มองเห็นได้จากโลก ระหว่างช่วงเดือนธ.ค. ปี 1994 กับเดือนพ.ค. ปี 1995 ที่ปราศจากวงแหวน

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดูเหมือนว่าดาวเสาร์ไม่มีวงแหวนอีกต่อไป ซึ่งเราจะเห็นภาพแปลกตานี้ได้ในวันที่ 23 มีนาคม ปี 2025 เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเวียนมาเกิดเป็นรอบทุก 13.7-15.7 ปี ในขณะที่โลกโคจรข้ามจุดตัดระนาบวงแหวน (ring plane crossing) ของดาวเสาร์

.

ภาพของดาวเสาร์ไร้วงแหวน สามารถจะเกิดขึ้นได้ถึง 3 ครั้ง ใน 1 รอบ เช่นในช่วงทศวรรษ 1990 วงแหวนของดาวเสาร์เลือนหายไปทั้งในวันที่ 22 พ.ค. และ 10 ส.ค. ปี 1995 รวมทั้งหายไปอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ. ปี 1996 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์รอบล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 และในปี 2025 ที่จะถึงนี้ เราจะมองเห็นดาวเสาร์ไร้วงแหวนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

.

แน่นอนว่าภาพดาราศาสตร์ดังกล่าวจะไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะดาวเสาร์จะเริ่มทำมุมกับโลกอีกครั้ง จนเผยให้เห็นด้านล่างของแถบวงแหวน รวมทั้งบริเวณขั้วใต้ของดาวที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก และท้ายที่สุดดาวเสาร์จะกลับมาทำมุม 27 องศากับโลก ซึ่งเป็นมุมเอียงระดับสูงสุดที่เผยให้เห็นวงแหวนทั้งหมดอย่างเต็มตา ในปี 2032

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c292px0lk53o