เฮแมน เบเคเล วัย 14 ปี กับผลงานสบู่ต้านมะเร็งผิวหนัง

cเด็กชายเฮแมน เบเคเล อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมต้นของโรงเรียนประจำเมืองแฟร์แฟ็กซ์ ในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ คว้ารางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ประจำปี 2023 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ “ทรีเอ็ม” (3M Young Scientist's Challenge) ด้วยผลงานการคิดค้นสบู่ต้านมะเร็งผิวหนัง ที่ทั้งมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก

.

สบู่ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเรา สามารถ “ชะล้าง” หรือขจัดเซลล์มะเร็งออกไปจากผิวหนังได้อย่างหมดจด โดยเบเคเลเกิดความคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว หลังได้เห็นผู้คนในทวีปแอฟริกาทำงานกลางแดดจ้าเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน จนทำให้ล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งผิวหนังกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพวกเขาจะมีผิวสีดำคล้ำก็ตาม

.

เบเคเลเคยอยู่ที่ประเทศเอธิโอเปียเป็นเวลา 4 ปี ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่สหรัฐฯ เขาอธิบายในคลิปวิดีโอโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ส่งเข้าประกวดว่า ความยากจนและการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย ทำให้มีผู้คนทั่วโลกต้องจบชีวิตลงเพราะมะเร็งผิวหนังถึงปีละกว่า 10,000 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีอัตราการฟื้นตัวและรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเพียง 20% ในขณะที่สถิติอย่างเดียวกันของผู้ป่วยในสหรัฐฯ มีสูงถึง 98%

.

แม้จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง และได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐาน แต่ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังในสหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินก้อนโตถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อราย หรือประมาณ 1,454,000 บาท เพื่อรักษาโรคมะเร็งผิวหนังให้เข้าสู่ระยะสงบหรือหายขาด

.

เฮแมน เบเคเล ขณะทำการทดลองเพื่อคิดค้นสารต้านมะเร็งผิวหนังราคาถูก

เด็กชายเบเคเลจึงเกิดความคิดว่า หากค้นพบวิธีการป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ใช้งานง่ายและมีราคาถูก จนผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงได้ คงจะดีไม่น้อย

.

เขาเริ่มโครงการวิจัยด้วยการรวบรวมข้อมูลและทำการทดลองกับสบู่ที่บ้านก่อน ต่อเมื่อแนวคิดนี้ผ่านการตอบรับให้เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ เบเคเลจึงขอความช่วยเหลือเสริมจากนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ รวมทั้งได้ เดบอราห์ อิซาเบลล์ วิศวกรผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของ 3M มาเป็นที่ปรึกษาด้วย

.

สบู่ต้านมะเร็งผิวหนังของเบเคเล ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ที่ชื่อว่า “อิมิดาโซควิโนลีน” (imidazoquinoline) ซึ่งใช้รักษาโรคผิวหนังเฉพาะที่อย่างเชื้อรา หูด หรือสิว โดยคณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้เป็นยารักษามะเร็งผิวหนังบางชนิดได้ด้วย

.

นอกจากนี้ สบู่ยังมีส่วนประกอบของอนุภาคไขมันที่เล็กระดับนาโนเมตร (lipid nanoparticle) ทำหน้าที่เป็นพาหนะขนส่งลำเลียงตัวยาเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง โดยจะไปกระตุ้นให้เซลล์เดนไดรต์ (dendritic cell) ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งเซลล์มะเร็ง ให้ทำงานอย่างขยันขันแข็งยิ่งขึ้น จนสามารถร่วมมือกับเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ฆ่าเซลล์มะเร็งก่อนที่มันจะเติบโตเป็นเนื้อร้ายได้

.

“สบู่นี้จะเหนียวติดผิวมากกว่าสบู่ทั่วไปนิดหน่อย ผู้ใช้อาจรู้สึกว่าล้างยาก แต่นั่นเป็นเพราะอนุภาคไขมันระดับนาโนสร้างฟิล์มบาง ๆ มาเคลือบผิว เพื่อส่งตัวยาเข้าเซลล์ผิวหนังได้ดีขึ้น และถึงแม้คุณจะล้างคราบสบู่เหนียวออกจนหมด ตัวยาก็ยังคงอยู่ในผิวหนังและออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ” เบเคเลกล่าวอธิบาย

.

คนผิวดำในแอฟริกามีความเสี่ยงจะเสียชีวิตจากมะเร็วผิวหนังสูงกว่าผู้อื่นมาก

สูตรทางเคมีของสบู่นี้ได้มาจากการทดสอบโครงสร้างโมเลกุลด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถจะบอกได้ว่าส่วนผสมของสารเคมีต่าง ๆ จะกลายเป็นสารที่ออกฤทธิ์ตามต้องการหรือไม่ และจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งผลปรากฏว่าสูตรสบู่ของเบเคเลนั้นมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งผิวหนังสูง ทั้งยังทำมาจากส่วนประกอบราคาถูก จนสามารถจะผลิตสบู่นี้ได้ถึง 20 ก้อน ด้วยต้นทุนต่ำเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 360 บาท ซึ่งสบู่จำนวนนี้สามารถจะใช้ไปได้นานถึง 4 เดือน

.

อย่างไรก็ตาม สบู่ต้านมะเร็งผิวหนังของเบเคเลยังคงต้องผ่านการทดลองระดับคลินิกในมนุษย์เสียก่อน หากจะมีการนำไปใช้จริง ซึ่งเขาคาดว่าจะทำการทดลองเพื่อขอใบอนุมัติจากเอฟดีเอได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเขามีแผนจะตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อผลักดันให้สบู่นี้เข้าถึงคนทั่วโลกในปี 2028

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c032ze6j2jlo