แม้อายุของคนเราจะนับกันที่จำนวนปีหลังจากได้เกิดมา แต่ทว่าเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อาจมี “อายุชีวภาพ” (biological age) ไม่ตรงกับอายุที่กำหนดด้วยวันเดือนปีเกิดก็เป็นได้

.

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้วิธีตรวจเลือด เพื่อประเมินอัตราความชราภาพของอวัยวะสำคัญภายในต่าง ๆ ว่ามีส่วนไหนที่แก่เกินอายุจริงไปมากหรือไม่ ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยทำนายว่า มีความเสี่ยงที่อวัยวะนั้นจะล้มเหลวในอนาคตอันใกล้อยู่หรือเปล่า

.

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร Nature โดยระบุว่าสามารถตรวจสอบอายุชีวภาพของอวัยวะสำคัญในร่างกายคนเราได้ถึง 11 อวัยวะ ด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงหัวใจ สมอง และปอดด้วย

.

มีการทดสอบใช้วิธีตรวจเลือดเพื่อหาอายุชีวภาพของอวัยวะภายใน กับกลุ่มทดลองที่เป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือผู้สูงวัยจำนวนหลายพันคน ทำให้พบว่า 1 ใน 5 ของคนสุขภาพดีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจมีอวัยวะอย่างน้อย 1 ชิ้น ที่แก่ชราลงอย่างรวดเร็วในอัตราที่สูงกว่าอวัยวะอื่น นอกจากนี้ กลุ่มทดลองราว 1-2 คน จากทุก 100 คน อาจมีอวัยวะหลายชิ้นที่อายุชีวภาพสูงกว่าอายุจริงได้

.

ทีมผู้วิจัยระบุว่า การเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ โดยตรวจหาอายุชีวภาพของอวัยวะต่าง ๆ ช่วยเปิดโอกาสให้แพทย์เข้าแทรกแซงแก้ไขปัญหาที่อาจแฝงอยู่ได้แต่เนิ่น ๆ ซึ่งการที่ทราบว่าอวัยวะใดกำลังเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว จะช่วยให้สามารถป้องกันการก่อตัวของโรคร้ายในอนาคตได้

.

อายุชีวภาพของแต่ละอวัยวะ

.
ตัวอย่างเช่นหัวใจที่ชราภาพเกินกว่าอายุจริง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่อาจเกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว (heart failure) ในอนาคตอันใกล้ ส่วนสมองที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วเกินไป ก็มีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม (dementia) หลายชนิดสูงกว่าผู้อื่นได้

.

ผลวิจัยยังชี้ว่า ผู้ที่มีอวัยวะสำคัญอยู่ในสภาพที่แก่ชราผิดปกติ ตั้งแต่หนึ่งอวัยวะขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อโรคบางชนิดสูงขึ้นและมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตภายใน 15 ปีข้างหน้าสูงขึ้นด้วย

.

อวัยวะที่ทีมผู้วิจัยทำการตรวจสอบอายุชีวภาพ ได้แก่สมอง, หัวใจ, ตับ, ปอด, ลำไส้เล็ก, ไต, ไขมัน, หลอดเลือด,เนื้อเยื่อของระบบภูมิคุ้มกัน, กล้ามเนื้อ, และตับอ่อน

.

การตรวจเลือดดังข้างต้น จะวิเคราะห์ถึงระดับปริมาณของโปรตีนหลายพันชนิดในเลือด ซึ่งจะบอกได้ว่า อวัยวะใดบ้างที่กำลังแก่ชราลงด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างไปจากอวัยวะส่วนใหญ่ เนื่องจากแบบแผนของสัดส่วนโปรตีนที่ปรากฏ สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะได้

.

ทีมผู้วิจัยยังใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เข้าช่วยในการวิเคราะห์ผลเลือดดังกล่าว โดยฝึกให้อัลกอริทึมเรียนรู้วิธีทำนายการเกิดโรค จากฐานข้อมูลผลเลือดและข้อมูลสุขภาพของคนไข้จำนวนมาก

.

ดร.โทนี วิส-คอเรย์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยบอกว่า “เมื่อเราเปรียบเทียบอายุชีวภาพของแต่ละอวัยวะในกลุ่มทดลองแต่ละคน กับอายุชีวภาพของแต่ละอวัยวะในคนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เราพบว่า 18.4% ของคนอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีอวัยวะหนึ่งที่ชราภาพลงอย่างรวดเร็วกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งคนเหล่านี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคที่อวัยวะดังกล่าว ภายใน 15 ปีข้างหน้า”

.

ขณะนี้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ยื่นเรื่อง เพื่อขอจดสิทธิบัตรวิธีตรวจเลือดหาอายุชีวภาพของอวัยวะแล้ว เนื่องจากคาดว่าอาจนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต แต่ก็จำเป็นจะต้องมีการศึกษาทดลองเพิ่มเติมก่อนจะไปถึงขั้นนั้นด้วย

.

งานวิจัยในอดีตบางชิ้นของดร. วิส-คอเรย์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ ชี้ว่ากระบวนการที่ทำให้เกิดความเสื่อมถอยหรือความแก่ชราทางชีวภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มาเป็นระลอกใหญ่ 3 ครั้ง ในช่วงชีวิตของแต่ละคน เมื่อมีอายุถึงช่วงปลายของวัยเลขสาม, ช่วงต้นของวัยเกษียณหลังมีอายุครบ 60 ปี, และในอีก 20 ปีหลังจากนั้น ตอนใกล้จะมีอายุครบ 80 ปี

.

ด้านศาสตราจารย์ เจมส์ ทิมมอนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโรคที่เกี่ยวข้องกับวัย จากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร ซึ่งเคยศึกษาเรื่องยีนหรือตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมในเลือดที่บอกถึงอายุชีวภาพมาก่อน แสดงความเห็นว่า “ควรมีการตรวจสอบยืนยันประสิทธิภาพของวิธีตรวจเลือดดังกล่าว โดยทำกับกลุ่มทดลองที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งรวมถึงคนหนุ่มสาวและคนหลายเชื้อชาติมากขึ้นด้วย”

.

“วิธีใหม่นี้เน้นการตรวจเพื่อค้นหาร่องรอยของความชรา มากกว่าจะมองหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarkers) ที่บอกถึงความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับวัยได้โดยตรงแต่เนิ่น ๆ” ศ.ทิมมอนส์ กล่าว

.

อย่างไรก็ตาม ดร.วิส-คอเรย์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “หากเราพบว่าวิธีการนี้ใช้ได้ผลกับคนกลุ่มใหญ่ 50,000-100,000 คนขึ้นไป นั่นหมายความว่า เราสามารถจะติดตามตรวจสอบอวัยวะแต่ละชิ้นของคนที่ยังดูมีสุขภาพดีได้ เพื่อหาความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นเร็วผิดปกติ และลงมือรักษาเสียก่อนที่คนผู้นั้นจะล้มป่วยไปจริง ๆ”

.

ศ.พอล เชลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของความชรา จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ของสหราชอาณาจักร บอกว่ายังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมทั้งร่างกาย มากกว่าจะมุ่งพิจารณาที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง

.

ด้านแคโรไลน์ อับราฮัมส์ จากองค์กรการกุศล Age UK บอกว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้คนเรารู้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงได้ แต่ก็ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนเหล่านั้น ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่กับข่าวร้ายไประยะหนึ่งด้วย

.

เธอเรียกร้องให้ทางการสหราชอาณาจักรจัดงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) สามารถให้ความช่วยเหลือทางอารมณ์และให้บริการคลินิกจิตเวชได้ หากมีการนำวิธีตรวจเลือดหาอายุชีวภาพของอวัยวะมาใช้กับคนทั่วไปในอนาคต

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cd1p7e7z6m1o