ผลวิจัยกับกลุ่มประชากรขนาดใหญ่เกือบห้าแสนคนในสหราชอาณาจักร ชี้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างจริงจังในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สามารถจะช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้ถึง 10 ปี แม้จะหันมาเริ่มกินอาหารตามหลักโภชนาการที่ถูกต้องเอาเมื่อวัยกลางคนแล้วก็ตาม
.
ทีมนักวิจัยด้านสาธารณสุขศาสตร์จากนานาชาติ นำโดยดร.ลาร์ส แฟดเนส จากมหาวิทยาลัยแบร์เกนของนอร์เวย์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดข้างต้นลงในวารสาร Nature Food เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยทีมผู้วิจัยได้สร้างแบบจำลองอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของชาวอังกฤษ 467,354 คน หลังวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของคนเหล่านั้น รวมทั้งข้อมูลพฤติกรรมการกินอาหารที่ได้จากฐานข้อมูล UK Biobank
.
มีการจัดแบ่งกลุ่มประชากรดังกล่าวออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามชนิดของอาหารที่กินเป็นหลัก โดยมีตั้งแต่กลุ่มที่กินอาหารขยะซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ, กลุ่มที่กินอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการในระดับปานกลาง, กลุ่มที่กินอาหารดีมีประโยชน์ตรงตามคำแนะนำ Eatwell Guide ของสหราชอาณาจักร, ไปจนถึงกลุ่มที่กิน “อาหารอายุวัฒนะ” (longevity diet) ที่ดีต่อสุขภาพในระดับสูงสุดเป็นประจำ
.
ผลปรากฏว่าทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งหันมาบริโภคอาหารที่มีคุณค่าสูงทางโภชนาการเป็นหลัก ตามคำแนะนำ Eatwell Guide และสามารถคงพฤติกรรมการกินเช่นนี้ไว้ได้ในระยะยาว มีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นกว่าเดิมถึง 9 ปี แม้จะเริ่มหันมารักษาสุขภาพด้วยการกินเอาในวัยกลางคนแล้วก็ตาม
.
ส่วนผู้ที่กิน “อาหารอายุวัฒนะ” ซึ่งหมายถึงธัญพืชเต็มเมล็ด, ถั่ว, ผัก,ผลไม้, และเนื้อปลาในปริมาณปานกลาง รวมทั้งเลิกบริโภคน้ำหวานและผลิตภัณฑ์เนื้อที่ผ่านการแปรรูปอย่างสิ้นเชิง มีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นกว่าเดิมถึง 10 ปี เลยทีเดียว แม้จะไม่ได้เริ่มกินอาหารที่ดีดังกล่าวตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวก็ตาม
.
ดร.แคเทอรีน ลีฟวิงสโตน นักโภชนาการประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดีคินของออสเตรเลีย กล่าวกับเว็บไซต์ ScienceAlert ว่า “ยิ่งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและทำให้มีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นเท่านั้น แม้ในกลุ่มคนชราที่สูงวัยกว่า 70 ปีขึ้นไป ก็ยังมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้อีก 4-5 ปี หากเปลี่ยนมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นไม่มีคำว่าสายเกินไปในเรื่องการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารเพื่อสุขภาพ”
.
นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ของสหรัฐฯ ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าการตัดลดและจำกัดปริมาณการบริโภคกรดอะมิโนจำเป็น “ไอโซลิวซีน” (Isoleucine) อาจช่วยชะลอวัยและยืดอายุขัยให้กับคนเราได้
.
ข้อเสนอดังกล่าวมาจากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งให้หนูทดลองกลุ่มหนึ่งได้รับไอโซลิวซีนจากอาหารที่กินเข้าไปลดลงราว 2 ใน 3 จากนั้นนำข้อมูลสุขภาพของหนูกลุ่มดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ได้รับกรดอะมิโนจำเป็นครบ 20 ชนิดตามปกติ และหนูอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับกรดอะมิโนจำเป็นทุกชนิดลดลงราว 2 ใน 3 เช่นกัน
.
ผลปรากฏว่าหนูตัวผู้ที่ได้รับไอโซลิวซีนลดลง มีอายุขัยยืนยาวกว่าถึง 33% เมื่อเทียบกับหนูทดลองกลุ่มอื่น ส่วนหนูตัวเมียกลุ่มเดียวกันมีอายุยืนมากกว่าเพื่อน 7% โดยหนูทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ถูกจำกัดการบริโภคไอโซลิวซีน ต่างก็มีสุขภาพดีขึ้นโดยรวมและแก่ช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนูตัวผู้นั้นมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น มีระดับการเผาผลาญใช้พลังงานหรือเมตาบอลิซึมที่ดีขึ้น จนมีรูปร่างและน้ำหนักตัวที่เหมาะสม แม้จะกินอาหารเข้าไปในปริมาณมากก็ตาม
.
ไอโซลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่พบได้ในไข่, ผลิตภัณฑ์นม, ถั่วเหลือง, และเนื้อสัตว์ แต่ทีมผู้วิจัยยังไม่แนะนำให้คนทั่วไปละเว้นหรือจำกัดการบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีดังกล่าวในตอนนี้ เพราะยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อหาทางควบคุมปริมาณไอโซลิวซีนด้วยวิธีการที่ปลอดภัยให้ได้เสียก่อน
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cnlvdy8kpwyo