ในขณะที่ใกล้จะถึงวาระครบรอบ 4 ปี การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่ถึงวันละหลายหมื่นคน โดยยังไม่มีวี่แววว่ามนุษย์จะสามารถเอาชนะโรคติดต่อนี้ได้อย่างเด็ดขาดในเร็ววัน

.

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาลูของบราซิล ได้เสนอความหวังใหม่ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่นอกเหนือไปจากการฉีดวัคซีน นั่นก็คือการรับประทานอาหารมังสวิรัติ (vegetarian) โดยงดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด หรืออย่างน้อยก็กินอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก (plant-based) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และการล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ลงได้เกือบ 40%

.

งานวิจัยนี้ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ BMJ Nutrition, Prevention & Health ฉบับล่าสุด โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าได้ทำการสำรวจข้อมูลสุขภาพของชาวบราซิล 702 คน ระหว่างเดือนมี.ค. – ก.ค. ปี 2022 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่รับประทานอาหารทั้งกลุ่มเนื้อสัตว์และผักผลไม้ (omnivore) รวมทั้งผู้ที่รับประทานอาหารซึ่งมาจากพืชเป็นหลัก หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า “แพลนต์เบส” นั่นเอง

.

ในบรรดากลุ่มตัวอย่างที่เป็น “แพลนต์เบส” นั้น มีทั้งผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แต่น้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไปจนถึงผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งจะงดเว้นไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ชาวมังสวิรัติบางกลุ่มอาจยังดื่มนมและกินไข่อยู่ ในขณะที่ชาววีแกน (vegan) จะงดเว้นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ทั้งหมด รวมถึงน้ำผึ้งและเจลาตินด้วย

.

กลุ่มตัวอย่าง 330 คน (47%) ระบุว่าตนเองติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 โดยมีทั้งผู้ที่เกิดอาการในระดับปานกลางและในระดับไม่รุนแรง แต่กลุ่มผู้ที่กินทั้งเนื้อสัตว์และผักผลไม้โดยไม่จำกัดสัดส่วนของอาหารทั้งสองประเภท มีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าที่ 52% เมื่อเทียบกับกลุ่มแพลนต์เบสซึ่งมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าที่ 40%

.

นอกจากนี้ กลุ่มแพลนต์เบสที่ติดเชื้อยังเกิดอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าที่11% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินเนื้อสัตว์ได้ไม่จำกัด ซึ่งผู้ติดเชื้อในกลุ่มหลังมีอาการป่วยในระดับปานกลางถึงรุนแรงสูงกว่าที่ 18%

.

ทีมผู้วิจัยอธิบายว่า กลุ่มแพลนต์เบสซึ่งรวมถึงชาวมังสวิรัติและชาววีแกนด้วยนั้น มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดและเกิดอาการรุนแรงต่ำ เช่นมักจะมีโรคประจำตัวน้อยกว่า, ไม่ค่อยมีผู้ที่เป็นโรคอ้วน, และส่วนใหญ่มีอัตราการขยับเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันสูงกว่า ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ต่ำกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ปริมาณมากถึง 39%

.

“ผู้ที่บริโภคอาหารแบบแพลนต์เบส รวมทั้งชาวมังสวิรัติและชาววีแกน มีสุขภาพหัวใจแข็งแรงกว่า และมีความดันโลหิตอยู่ในระดับที่ดีกว่า อาหารจากพืชยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมี อย่างเช่นไฟโตสเตอรอลและโพลีฟีนอล ซึ่งมีประโยชน์ในการบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เซลล์ภูมิคุ้มกัน” ทีมผู้วิจัยระบุ

.

แม้จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และโภชนาการ พากันออกมาแสดงความคิดเห็นต่อข้อจำกัดของผลวิจัยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยศ.มาร์กาเร็ต เรย์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัดทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ของสหราชอาณาจักร บอกว่าหลักฐานที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าอาหารแพลนต์เบส, มังสวิรัติ, หรือวีแกน สามารถป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่ชี้ว่า สารอาหารหลายชนิดซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต้านทานโรคโควิด-19 นั้น สามารถพบได้มากกว่าในเนื้อสัตว์

.

ดร.เกวิน สจวร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบียบวิธีวิจัย จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลของสหราชอาณาจักร บอกว่าประชากรในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานั้นน้อยเกินไป ทั้งยังมีปัญหาในเรื่องวิธีสังเกตการณ์ ซึ่งอาศัยการรายงานข้อมูลด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างเป็นหลัก ซึ่งอาจนำไปสู่อคติและความผิดพลาดในการศึกษาได้ นอกจากนี้ วิธีการวิจัยยังไม่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถอธิบายถึงสาเหตุเบื้องหลังที่นำไปสู่ผลการวิจัยได้

.

ศ.เควิน แม็กคอนเวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติประยุกต์ จากมหาวิทยาลัย Open University ของสหราชอาณาจักร บอกว่าระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในครั้งนี้มีความคลุมเครือ จนไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 มาจากอาหารหรือปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ กันแน่

.

“ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มตัวอย่างที่กินอาหารแบบแพลนต์เบสนั้น ยังได้รับเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำในปริมาณหนึ่ง ซึ่งนี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับสารอาหารที่หลากหลาย จนถึงระดับที่เพียงพอจะต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้” ศ.แม็กคอนเวย์กล่าว

.

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า การกินอาหารทุกชนิดในสัดส่วนที่พอเหมาะพอควร เช่นการเพิ่มปริมาณพืชผักผลไม้และถั่วให้มากขึ้น และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงบ้าง โดยอาจงดกินในบางวันของสัปดาห์ น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดต่อสุขภาพและการป้องกันโรคติดต่อในขณะนี้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c51zdnee078o