หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.6 เขย่าจังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน และทำให้เกิดสึนามิสูง 6 เมตร ตามแนวทะเลญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ยังทำให้พื้นดินยกตัวสูงถึงประมาณ 4 เมตร อีกด้วย

.

www3.nhk.or.jp

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้มีการเผยผลการสำรวจและเก็บข้อมูลในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเกิดแผ่นดินไหวว่า จากการสำรวจพื้นที่บริเวณรอบท่าเรือคาอิโซะในเมืองวาจิมะ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ ได้มีการค้นพบการเกิดพื้นดินยกตัวขึ้นประมาณ 4 เมตร เมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลทั้งก่อนและหลังแผ่นดินไหว โดยระดับก่อนแผ่นดินไหวนั้นกำหนดขึ้นโดยใช้ตำแหน่งของหอยและหนอนทะเลที่ตรงกำแพงกันคลื่น และทีมนักวิทยาศาสตร์ยังได้พบการยกตัวสูง 3.6 เมตร ในแนวหินโสโครกที่บริเวณทางเหนือของท่าเรือคาอิโซะ

.

ชิชิกูระ มาซาโนบุ หัวหน้าคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งชาติระบุว่า การที่พื้นดินยกตัวขึ้น 4 เมตรถือเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยชี้ว่าคาบสมุทรโนโตะก่อตัวขึ้นจากปรากฏการณ์นี้ แต่ระดับเช่นนี้เกิดขึ้นแค่ครั้งหนึ่งในรอบหลายพันปี 

.

www3.nhk.or.jp

แผ่นดินไหวบริเวณจังหวัดอิชิคาวะ 2024 ครั้งนี้ มีความรุนแรงสูงสุดที่ระดับ 7 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด นับตั้งแต่แผ่นดินไหวที่จังหวัดฮกไกโด เมื่อปี 2018 โดยแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นที่บริเวณขอบทวีปทางตะวันออกของทะเลญี่ปุ่น ที่เป็นเขตมุดตัวการแปรสัณฐานระหว่าง แผ่นอามูร์กับแผ่นโอค็อตสค์ ขอบทวีปนี้เคลื่อนตัวมาบรรจบกัน โดย “แผ่นโอค็อตสค์” (Okhotsk Plate) เป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานขนาดเล็ก ครอบคลุมทะเลโอค็อตสค์ คาบสมุทรคัมชัตคา เกาะซาฮาลิน โทโฮกุ และฮกไกโดในประเทศญี่ปุ่น และ “แผ่นอามูร์” (Amur Plate) เป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานขนาดเล็กที่อยู่ในซีกโลกเหนือด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่แมนจูเรีย คาบสมุทรเกาหลี ทะเลเหลือง และดินแดนปรีมอร์สกี

.

คาบสมุทรโนโตะ

ศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหว เป็นคาบสมุทรในจังหวัดอิชิกาวะ ที่ยื่นออกไปในทะเลญี่ปุ่นทางทิศเหนือ ประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นคาบสมุทรที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับคาบสมุทรอื่นๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น

.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : www3.nhk.or.jp FB : NHK WORLD-JAPAN Thai

เรียนรู้เพิ่มเติม

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000004213