ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ควรจะสามารถปรับสูตรวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างวัคซีนตัวใหม่เพื่อช่วยปกป้องผู้คน
ผู้นำในอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุขในที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (World Economic Forum) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันหารือเกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผนรับมือโลกระบาดใหญ่ทั่วโลก ที่เรียกว่า "โรคเอ็กซ์" (Desease X)
.
ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกคำเตือนว่า การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างที่เห็นระหว่างที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเช่น ระบบสาธารณสุขที่ไม่สามารถรองรับปัญหาได้ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าราวล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
อะไรคือ โรคเอ็กซ์ (Desease X)
.
นี่ไม่ใช่โรคที่แท้จริง เป็นเพียงชื่อเรียกสมมติโดยองค์การอนามัยโลก เพื่ออ้างถึงสภาวะการติดเชื้อที่ยังไม่สามารถทราบได้ในขณะนี้ แต่ยังสามารถเป็นต้นเหตุของโรคระบาด หรือ หากเกิดการแพร่ระบาดในหลายประเทศหรือหลายทวีป ก็จะกลายเป็นการระบาดใหญ่ได้
.
ศัพท์นี้ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหนึ่งในบัญชีโรคที่เฝ้าระวัง (priority disease) ในเดือน ก.พ. 2018
.
แผนและแนวทางการทำวิจัยและพัฒนา (R&D Blueprint) คือ กลยุทธ์ระดับโลกที่คิดค้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการประชุมขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประกอบด้วย แผนการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยให้กระบวนการวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระหว่างที่เกิดโรคระบาด
.
แผนการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งขั้นตอน เพื่อมีความพร้อมสำหรับการทดสอบที่มีประสิทธิภาพ, วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยชีวิต และหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตขนาดใหญ่
.
ในหลายปีที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับโรคระบาดจำนวนมาก เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (SEVERE ACUTE RESPIRATORY SYNDROME-SARS), ไข้หวัดหมู, โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome), โรคอีโบลา และโรคโควิด-19
.
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพหวั่นว่า การระบาดใหญ่ครั้งหน้าอาจจะเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญอาจจะรุนแรงมากกว่าไวรัสโคโรนาที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคโควิด-19 ก็เป็นได้
.
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลก กล่าวในการเสวนาต่อผู้นำโลกในเมืองดาวอส
โรคเอ็กซ์เป็นเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ได้หรือไม่
.
ขณะที่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่ามีโรคเอ็กซ์อยู่จริงหรือไม่ บรรดานักวิจัย, นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดหวังว่า จะสามารถคิดแผนปฏิบัติการรับมือเพื่อต่อสู้กับไวรัสและเตรียมระบบสุขภาพ ในกรณีที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด
.
ในระหว่างการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวงเสวนาหัวข้อ "Preparing for Disease X" (การเตรียมรับมือโรคเอ็กซ์) นำโดย ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลก โดยเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับ ความพยายามที่จำเป็นต่อการเตรียมระบบการดูแลสุขภาพเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่รออยู่ข้างหน้า หากว่า มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง
.
"แน่นอนว่า มีคนบางส่วนที่กล่าวว่า สิ่งนี้อาจจะสร้างความตื่นตระหนก มันจะดีกว่าถ้ามีการเตรียมพร้อมรับมือ และการคาดการณ์ว่าจะมีบางอย่างอาจจะเกิดขึ้น เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์หลายครั้ง" ผู้อำนวยการอนามัยโลก กล่าว
.
กรณีของการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความประหลาดใจต่อคนทั้งโลก อย่างที่ บีบีซี ฟิวเจอร์ รายงานไว้เมื่อปี 2021 ที่ว่า " ทว่า ในหลายปี นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญรายอื่น ๆ เตือนว่า เราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับโรคระบาดระดับโลกให้ได้"
.
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างกังวลถึงโรคระบาดที่มีต้นตอจากสัตว์เกิดขึ้นได้อย่างไร
.
ตามข้อเท็จจริง 75% ของโรคอุบัติใหม่ถูกระบุว่า เป็นโรคจากสัตว์สู่คน ไม่แตกต่างจากกรณีของโรคโควิด-19 ที่เชื่อว่า มีต้นตอมาจากตัวนิ่มที่ขายในตลาดสดในจีน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้โรคโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ต่อสภาพภูมิอากาศ, การบุกรุกพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า และการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้โรคที่ติดเชื้อจากสัตว์แพร่กระจายหมุนเวียนทั่วโลก
.
ประกอบกับการขยายตัวของเมือง, การมีประชากรมากเกินไป และการค้าระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงมีความคิดที่จะวางฉากทัศน์ได้เพื่อรับมือกับโรคระบาดที่จะเกิดมากขึ้น
.
วัคซีนต้านโควิด-19 ถูกลำเลียงหลังจากการทดสอบทางคลินิกในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2020
โลกจะเตรียมตัวรับมือกับโรคระบาดในอนาคตอย่างไร
.
ดร.ทีโดรส กล่าวในการเสวนาในระหว่างประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมว่า องค์การอนามัยโลกได้ดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับโรคระบาดไว้แล้ว ประกอบด้วย กองทุนสำหรับโรคระบาด และการสร้างศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีในแอฟริกาใต้ ที่สามารถจัดการกับความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีน
.
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป European Centre for Disease Prevention and Control หรือ ECDC ให้คำแนะนำในรายงานที่เผยแพร่ในปี 2022 ว่าควรเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน แทนที่จะสร้างสิ่งใหม่เพื่อรับมือโรคระบาด
.
นอกจากนี้ ECDC ยังกระตุ้นให้มีการทดสอบระบบใหม่ก่อนที่จะมีโรคระบาดใหม่
.
ย้อนหลังกลับไปในเดือน มิ.ย. 2022 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ร่างแผนเพื่อสร้างความเข้มแข็งการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์และการตีความข้อมูลด้านสุขภาพจำนวน 10 ฉบับ
.
"ระบบเฝ้าระวังโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้การตรวจจัดโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด, สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และยากต่อการควบคุม" ร่างแผนดังกล่าวระบุ
.
องค์การอนามัยโลกรับทราบว่า โรคระบาดไม่ได้มาจากแหล่งที่มาที่ระบุได้เสมอ แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากโรคที่เรายังไม่ทราบว่ามันจะส่งผลต่อมนุษย์
.
ผู้คนส่วนใหญ่คาดหวังกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคต เห็นได้จาก วัคซีนต้านเชื้อโรคโควิด-19 ที่ได้รับการผลิตและแจกจ่ายไปทั่วโลกภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังการระบาด สิ่งนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการพัฒนาวัคซีน หากพิจารณาในแง่ความรวดเร็วในการผลิตคิดค้น
.
ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ควรจะสามารถปรับสูตรวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างวัคซีนตัวใหม่เพื่อช่วยปกป้องผู้คน
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cv2v41m80zlo