ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat ถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องมา 2-3 ปี คือความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ตรัง/กระบี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเลหายาก อย่างพะยูน

.

อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ขอเกริ่นสั้นๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมา หญ้าทะเลในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเห็นแล้วใจหาย

.

ผมเคยเล่าถึงแหล่งหญ้าบางแห่งในภาคตะวันออกที่หายไปกับตาในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงปี ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นผลทั้งจากมนุษย์และจากธรรมชาติ ยังรวมถึงผลกระทบจากโลกร้อนทะเลเดือด

.

แหล่งหญ้าแต่ละแห่งอาจได้รับผลต่างกัน เช่น ตะกอนทับ โรค (ซึ่งต้องพิสูจน์) การเปลี่ยนทิศกระแสน้ำ ฯลฯ แต่ที่รุนแรงต่อเนื่องคือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดของบ้านเรา ตรัง/กระบี่

.

พื้นที่หญ้าทะเลหลายหมื่นไร่ มีความหมายมากมายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและการทำมาหากินของพี่น้อง

.

ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์หายาก โดยเฉพาะพะยูนกว่า 70% ของไทยอยู่ในบริเวณนั้น

.

หากดูจากภาพใหญ่ เราพอแบ่งช่วงหญ้าโทรมได้เป็น 2 กลุ่ม

.

ช่วงแรกเกิดปี 64-65 บริเวณอ่าวทุ่งจีน ทางใต้เกาะลิบง สมมติฐานคืออาจเกิดจากกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่แถวนั้น ทำให้ตะกอนลอยมา

.

แต่กลุ่มสองเริ่มปลายปี 65 ต่อเนื่องถึง 66 จนปัจจุบัน หนนี้คลุมพื้นที่กว้างมากตลอดแนวชายฝั่งตรัง ยังเริ่มลามเข้าไปสู่บางพื้นที่ในจังหวัดกระบี่

.

หญ้าที่โดนผลกระทบหนักคือหญ้าคาทะเล อันเป็นชนิดใหญ่ที่สุด มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อสัตว์น้ำและการกักเก็บคาร์บอน

.
ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ

.

เมื่อหญ้าชนิดนี้ลดลง ทำให้ตะกอนในพื้นที่เปลี่ยนไป สภาพระบบนิเวศเปลี่ยนตาม ผลกระทบจึงรุนแรงต่อ ecosystem service เทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง

.

แปลง่ายๆ คือประโยชน์ของระบบนิเวศที่มีต่อสัตว์น้ำและผู้คนจะลดลงเฉียบพลัน

.

ตัวอย่างแสนง่ายคือพะยูนจะกินอะไร ?

.

แม้พะยูนกินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่หญ้าทะเลคืออาหารหลัก มีข่าวว่าปลายปีก่อน/ต้นปีนี้ มีพะยูนจากไปแล้ว 3 ตัว แม้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการลดลงของหญ้าทะเลได้ชัดเจน แต่เริ่มมีสัญญานบ่งบอก

.

ในต่างประเทศ หญ้าทะเลที่ลดลงในฟลอริดา ทำให้มานาตี(ญาติพะยูน หางกลม) ในบางพื้นที่ลดลง 10% หรือกว่านั้น

.
กรมทะเลจึงกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราทราบก่อนที่จะเกิดปัญหา

.

ยังรวมถึงความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่จะน้อยลงแน่ หากระบบนิเวศเปลี่ยนไป จากหญ้าหนาทึบกลายเป็นพื้นทรายโล่งๆ
ผลกระทบอีกประการที่เกิดขึ้นคือ Blue Carbon

.

แหล่งหญ้าทะเลคือเทพในการกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน แต่เมื่อเสื่อมโทรม ความสามารถในการกักเก็บย่อมน้อยลง
มีการศึกษาในต่างประเทศในเรื่องนี้ และผลออกมาน่าหวั่นใจเป็นอย่างมาก

.

หลายเปเปอร์สรุปคล้ายกัน โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจัยบางประการเปลี่ยนไป หญ้าไม่ออกเมล็ด เริ่มโทรม ความหนาแน่นลดลง ก่อนพื้นที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ

.

โรคของหญ้าอาจเกิดง่ายขึ้น ทำให้เราต้องเริ่มศึกษาเรื่องนี้เป็นครั้งแรกๆ ในไทย เช่น การเพาะเชื้อที่ร่วมกันระหว่างคณะประมง/กรมทะเล (ดูภาพนะครับ)

.

ปัญหาคือความซับซ้อนของสาเหตุ หลายอย่างเกี่ยวข้องกัน การระบุให้แน่ชัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่านั้นคือการแก้ปัญหา
หากพื้นที่ได้รับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เราอาจหยุดกิจกรรมดังกล่าว

.

แต่ถ้าเป็นพื้นที่ไม่มีกิจกรรมใด หญ้าดันตาย คราวนี้แหละครับคือเรื่องยาก เพราะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือด สิ่งแวดล้อมแปรปรวน ระบุสาเหตุก็ยาก แก้ไขยิ่งยากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดการที่ต้นทาง

.

แม้ต้นทางก็รู้ๆ กันอยู่ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ รู้กันมาหลายสิบปี แต่เรายังแก้ไขได้น้อยมาก

.

ที่น่าเจ็บใจคือเมื่อผลกระทบเกิดกับระบบนิเวศ คนที่เดือดร้อนกลุ่มแรกๆ คือคนที่อยู่อย่างพึ่งพาและพอเพียง ไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แต่เจอผลกระทบก่อนและเจอเยอะ

.

คำถามสำคัญคือเราควรทำอย่างไรในการช่วยแหล่งหญ้า พะยูน และผู้คน ?

.

คำตอบน่าเศร้า มันไม่ง่ายที่จะแก้ ที่เรามาประชุมกันยาวนานก็เพราะหาทางอยู่

.

แต่อย่าลืมว่าเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เราแทบไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอโลกที่ร้อนฉ่าขนาดนี้ ไม่เคยเจออุณหภูมิน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ หากผลจากโลกร้อนแก้ง่าย เราคงไม่กลัวกันเช่นทุกวันนี้

.

ข้อเสนออย่างแรกคือเรียนรู้อย่างจริงจัง เก็บข้อมูลให้มาก ศึกษาให้เยอะ นำข้อมูลหลายด้านมาเชื่อมต่อกันให้ได้ เราจำเป็นต้อง “ลงทุน” บุคลากร อุปกรณ์ งบประมาณอย่างเร่งด่วน

.

เหตุผลง่ายๆ ก็เหมือนกับเราต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำ มิใช่ป่วยหนักแล้วค่อยไปหาหมอ แต่เราละเลยมาจนเริ่มป่วยแล้ว เริ่มหนักแล้ว จะไปให้คุณหมอรักษา มันก็ไม่ง่ายแน่นอน

.

นักรักษาระบบนิเวศ หากปราศจากข้อมูล ก็เหมือนกับคุณหมอที่ยืนอึ้ง บอกว่าทำไมปล่อยให้ป่วยได้ถึงขนาดนี้

.

ผมกำลังพูดถึงหญ้าทะเลเป็นหมื่นๆ ไร่ เป็นงานที่แสนสาหัสแน่นอนจึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ถึงอาการป่วยหนักสำหรับแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งของบ้านเรา

.

ถึงตอนนี้ รู้สึกดีใจที่ตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อนที่คณะประมง ขอบคุณท่านคณบดีและเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกัน ขอบคุณเพื่อนๆ ภาคเอกชนที่สนับสนุน

.

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญ้าทะเลบางแห่งในฝั่งอันดามัน ทำให้ทราบแล้วว่าแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวไทยที่กำลังทำงานอยู่สำคัญมากๆ จะพยายามเต็มกำลังที่จะดูแลไว้ให้ได้

.

ฝากเพื่อนธรณ์ที่อยู่ริมทะเลหรือทำงานเกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าทะเลไม่ว่าแห่งใด กรุณาติดตามและปกป้องไว้

.

ผมพูดไว้วันนี้เลยว่า ในวันหน้า แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์จะหายากขึ้นเรื่อยๆ

.

กิจกรรมใดๆ ที่เกิดผลกระทบ สร้างตะกอนจำนวนมาก น้ำเสีย ฯลฯ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงที่สุดครับ

.

เครดิตภาพ : เพจ ReReef

รู้หรือไม่! พะยูนช่วยกระจายเมล็ดหญ้าทะเล

.

พะยูน กินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล เริ่มจากพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของพะยูน ที่จะไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน จึงทำหน้าที่เหมือนการตัดแต่ง พรวนดิน ขุดต้นหญ้าชุดเก่าออกไป เปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่ได้แตกงอกออกมาทดแทน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งขันระหว่างหญ้าชนิดต่างๆ จึงทำให้เกิดความหลากชนิดของหญ้าทะเล ยิ่งมีหญ้าทะเลหลากหลายชนิดก็ยิ่งมีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย

.

พะยูนยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แพร่กระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนกับสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า เมล็ดหญ้าที่ถูกถ่ายออกมาจากพะยูนจะสามารถงอกได้ดีกว่าปกติ งานวิจัยจากออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในอึพะยูนทุกๆ 1 กรัมพบว่ามีเมล็ดหญ้าทะเลถึง 2 เมล็ด และราว 1 ใน 10 ของเมล็ดเหล่านี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกเป็นหญ้าต้นใหม่

.

ทั้งนี้ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พะยูนกินหญ้าทะเลมากถึง 35 กิโลกรัมต่อวัน พะยูนจึงเป็นนักปลูกหญ้าทะเลตัวยง แถมยังช่วยใส่ปุ๋ยให้เสร็จสรรพด้วยการถ่ายมูลออกมา พะยูนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล พะยูนต้องพึ่งพาแนวหญ้าทะเล แต่ขณะเดียวกันถ้าหญ้าทะเลขาดสัตว์อย่างพะยูนความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ลดลง และย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ต้องอาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย

.

อ้างอิง https://www.greenpeace.org/thailand/story/8061/marium-the-famous-dugong/

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000010274