ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 600 ราย ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ “คนเหนือ... กับการรับรู้แผนสู้ฝุ่น ปี 2567” เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความรุนแรง และการรับรู้ต่อมาตรการแก้ไขปัญหา รวมถึงวิธีการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นหมอกควัน PM 2.5 ของประชาชนใน 8 จังหวัดภาคเหนือ
.
โดยผลการสำรวจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ให้ความเห็นว่า รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 45.50) ได้ให้เหตุผลว่า เริ่มสังเกตเห็นสัญญาณของหมอกควันเร็วกว่าปีที่ผ่านมา เช่น ค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงขึ้น โดยเริ่มมีอาการป่วยจากหมอกควัน เช่น ไอ จาม หายใจลำบาก เป็นต้น อันเป็นผลมาจากปัญหาการเผาในที่โล่ง ที่ยังมีการเผาป่าและเผาพื้นที่เกษตรอยู่ และมาตรการแก้ไขปัญหาการเผายังไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน
.
ประชาชนที่ให้ความเห็นว่า รุนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 35.17) ได้ให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะปัจจัยสภาพอากาศปีนี้ที่ก่อนหน้านี้มีฝนตกบ้าง ประกอบกับยังไม่เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ทำให้สถานการณ์หมอกควันยังไม่รุนแรงมากนัก และประชาชนเห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาหมอกควันของภาครัฐจะช่วยควบคุมสถานการณ์ให้ไม่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาได้
.
ขณะที่ประชาชนที่ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ความรุนแรงลดลงกว่าปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 19.33) ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอาจเกิดจากความตระหนักของประชาชน ที่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพมากขึ้น มาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาหมอกควันที่เข้มงวดขึ้น เช่น ประกาศห้ามเผาป่า รณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดการเผาป่าและการจัดการขยะ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน
.
มาตรการแก้ไขปัญหา ที่รับรู้มากที่สุด-น้อยที่สุด
เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ต่อมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นหมอกควัน PM 2.5 ปี 2567 ของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยพบว่า มาตรการที่เป็นที่รับรู้ รู้จักมากที่สุดได้แก่
อันดับ 1 กำหนดพื้นที่เป้าหมายเผาซ้ำซากในพื้นป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และการกำหนดการลดการเผาในที่โล่งในพื้นที่ทางการเกษตรให้ลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 การปรับเลื่อนช่วงวันห้ามเผาจากเดิมวันที่ 15 ก.พ. – 30 เม.ย. เป็นวันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. 2567 ในกลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน
อันดับ 3 การกำหนดเป้าหมายลดจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานในภาคเหนือลดลงร้อยละ 30
อันดับ 4 การกำหนดเงื่อนไขการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ
และอันดับ 5 การกำหนดเป้าหมายค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือต้องลดลงร้อยละ 40
ในขณะที่มาตรการที่เป็นที่รับรู้ รู้จักน้อยที่สุด ได้แก่
.
อันดับ 1
การบังคับใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถยนต์และให้จำหน่ายในราคาเดียวกับน้ำมันทั่วไป รองลงมา อันดับ 2 การเพิ่มเงื่อนไขการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน
อันดับ 3 การเข้มงวดตรวจสภาพรถ จับควันดำ และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV
และอันดับ 4 การนำระบบรับรองผลผลิตการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
.
คนเหนือรับมือ โดยการป้องกันตนเองและครอบครัวก่อน
ในด้านวิธีการเตรียมตัวป้องกัน รับมือ กับปัญหาสถานการณ์หมอกควันของประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.67 ได้เตรียมการป้องกันฝุ่นหมอกควันแล้ว โดยระบุว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 74.33) ได้เตรียมจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น อันดับ 2 (ร้อยละ 40.17) พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นควันมาก เช่น บริเวณการจราจรหนาแน่น เป็นต้น และอันดับ 3 (ร้อยละ 39.83) การงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่ร้อยละ 3.33 ไม่ได้มีการเตรียมตัวรับมือปัญหาฝุ่นหมอกควัน
.
ด้าน ศูนย์ด้านการรู้รับปรับตัวจากภัยฝุ่น PM2.5 หรือ PM2.5 Resilience Centre เผยการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม (เป็นห้วงเวลาที่เริ่มมีฝุ่นละอองมากขึ้น) ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างปี 2566 กับ 2567 (วันที่ 1 มี.ค. 5 มี.ค. 10 มี.ค. และ 15 มี.ค.)
.
ภาพข้างบน แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา สถานการณ์ฝุ่นพื้นที่ภาคเหนือในปี 2567 นี้ มีความรุนแรงที่น้อยว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นส่วนใหญ่
.
แต่ในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ พื้นที่ภาคเหนือได้กลับมีสถานการณ์ฝุ่นในปี 2567 ที่มีความรุนแรงมากกว่าในปี 2566 ทั้งนี้ น่าจะเกิดจากปัจจัยแหล่งกำเนิดด้วยการเกิดจุดความร้อนในห้วงเวลาวันที่ 14-15 ในปี 2567 เป็นจำนวนมากกว่าในปี 2566
.
แผนที่ความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยข้อมูลดาวเทียม Himawari-9 (https://aqmrs.com)
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000023579