ในช่วงฤดูร้อนของทุกๆ ปี ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการพยากรณ์เตือนในเรื่องสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยในบางวันและบางพื้นที่อาจมีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส และเราอาจจะสัมผัสได้ถึงความร้อนที่ร้อนยิ่งกว่าตัวเลขที่แสดงผลบนเทอร์โมมิเตอร์ สัมผัสความร้อนที่ไม่สบายตัวนี้เป็นผลมาจากค่าดัชนีความร้อนนั้นเอง

.

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยการนำเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น ซึ่งค่าดัชนีจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้นั่นเอง

.

ด้วยอุณหภูมิความร้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเป็นโรคประจำตัว อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความร้อน หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีประกาศเตือนในทุกๆ ครั้ง ที่มีการพยากรณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอากาศร้อนสูงเป็นอันตราย โดยค่าดัชนีความร้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

.

1.ระดับเฝ้าระวัง 27-32 องศาเซลเซียส (สีเขียว) - ระดับนี้ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน

2. เตือนภัย 32-41 องศาเซลเซียส (สีเหลือง) - ระดับนี้ร่างกายจะเกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

3. อันตราย 41-54 องศาเซลเซียส (สีส้ม)

.

– ร่างกายจะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน4.อันตรายมาก อุณภูมิที่แจ้งจะมากกว่า 54 องศาเซลเซียส (สีแดง) ในระดับนี้จะทำให้เกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่อาจทำให้บางคนมีอันตรายถึงชีวิตได้

.

“ค่าความร้อนที่เรารู้สึก ยิ่งความชื้นสูง เราจะรู้สึกร้อนมากขึ้นมากกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เพราะความชื้นสูงจะระบายความร้อนยาก ทำให้มีความรู้สึกอึดอัด”

.

เมื่อร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดฮีทสโตรก หรือลมแดดนั่นเอง คืออาการกล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง อาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

.

และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากมีการประกาศเตือนค่าดัชนีความร้อนสูง เราควรสังเกตอาการร่างกายบ่อยๆ และควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็น ควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000032515