นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ป่วยมีอาการจิตเวชจะสูญเสียการรับรู้ที่ไม่ตรงกับโลกความเป็นจริงและอาจจะมีอาการหูแว่ว

นักวิจัยกล่าวว่าการสูบกัญชาที่มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรง

.

รายงานการวิจัยฉบับนี้ได้รับการเปิดเผยในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนเซต ในหมวดจิตเวชศาสตร์ (the Lancet Psychiatry) เมื่อเดือน มี.ค. 2019 ด้วยการศึกษาในเมืองต่าง ๆ ในยุโรป พวกเขาประเมินว่า มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ประมาณ 1 ใน 10 คน ที่อาจเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง

.

โดยเฉพาะในกรุงลอนดอนของอังกฤษและกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพบว่า ความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากกัญชาส่วนใหญ่ที่วางขายนั้นมีความเข้มข้นสูงมาก

.

งานศึกษายังระบุอีกด้วยว่า การใช้กัญชาทุกวันยังทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้คนควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ถึงแม้งานศึกษานี้จะไม่ใช่ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงอันตรายของมันก็ตาม

.

ดร.มาร์ธา ดิ ฟอร์ติ หัวหน้านักวิจัยและจิตแพทย์ บอกว่า “หากคุณตัดสินใจจะใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง ก็โปรดจำไว้ว่ามันมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น”

.

ด้าน ดร.เอเดรียน เจมส์ จากราชวิทยาลัยจิตแพทย์ บอกว่า “นี่เป็นงานศึกษาที่มีคุณภาพและผลการศึกษาควรถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง”

.

ความเสี่ยงทางจิตเวช
ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความคิดและรับรู้ไม่ตรงกับโลกความเป็นจริงและอาจมีอาการหูแว่ว เห็นในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือมีความคิดหลงผิดสับสน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาการทางการแพทย์ยอมรับ และมีความแตกต่างจากอาการเคลิ้มหลอนที่เกิดจากยาเสพติด

.

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่า กัญชาอาจก่อให้เกิดหรือทำให้ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงมากน้อยเพียงใด แต่หลายประเทศได้เดินหน้าปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและทำให้มันกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้ว

.

แพทย์ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงซึ่งมีส่วนผสมของ THC (Tetrahydrocannabinol) จำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการอารมณ์พุ่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้และล่องลอย หรือเรียกกันว่า “ไฮ (high)” โดยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กัญชาที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงหรือ สกั๊งค์ มักมีปริมาณ THC สูงถึง 14% ซึ่งคิดเป็น 94% ของกัญชาที่ขายตามท้องตลาดในกรุงลอนดอน

.

“มันยังคงตามรังควานชีวิตผม”

แอด กริดลีย์

ปัจจุบัน แอด กริดลีย์ ต้องใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด เนื่องจากกำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคจิตเภท นอกจากนี้เขายังเคยพยายามปลิดชีวิตตัวเอง โดยเขาเชื่อว่าอาการทางจิตดังกล่าวเกิดจากการใช้กัญชา ซึ่งตอนนี้เขาเลิกสูบมันแล้ว

.

“ผมเคยสูบกัญชาเยอะมาก การเมากัญชาเป็นเรื่องปกติสำหรับผม และผมเริ่มทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเอง หลังจากพยายามฆ่าตัวตาย 2-3 ครั้ง ซึ่งผมไม่ยอมรับว่าทำมันลงไปจริง ๆ แม่มาเห็นสภาพผมนั่งกอดเข่า ตัวสั่นเทาอยู่ที่แฟลตซึ่งเป็นบ้านของผม เธอก็รู้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติ” เขาเล่าผ่านรายการวิคตอเรีย เดอร์บีเชียร์

.

“ภายใน 24 ชั่วโมง ก็มีหมอออกมาดู และผมก็อยู่โรงพยาบาลถึงวันรุ่งขึ้น มันทำให้ชีวิตผมเป็นทุกข์อีกประมาณ 10 ปีหลังจากนั้น ผมไม่สามารถงานได้เลย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายสิบครั้ง และไม่ได้ทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตของผม”

.

“เมื่อผมหยุดสูบกัญชา อาการทางจิตเวชก็หยุดลง ผมต้องพึ่งยาและสิ่งต่าง ๆ แต่นั่นเป็นการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เพื่อให้สารเคมีในสมองของผมได้รับความสมดุลบางอย่าง ซึ่งพอเลิกสูบ อาการก็หายไป”

.

“ถ้าผมรู้ถึงความเสี่ยง ผมคงลังเลที่จะสูบมัน”

.

งานศึกษา
นักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ได้ศึกษาการใช้กัญชาของผู้คนใน 11 เมืองของยุโรป รวมถึงกรุงลอนดอน และภูมิภาคหนึ่งของบราซิลด้วย

.

พวกเขาเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง 901 คน ที่เคยเป็นโรคจิตเวชและอีก 1,237 คน (คนทั่วไป) ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคจิตเวช

.

พวกเขาจัดหมวดหมู่ของกัญชาที่ผู้เข้าร่วมงานวิจัยใช้ โดยแบ่งตามความเข้มข้นของมัน อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ทำการทดสอบความแรงของกัญชาในห้องปฏิบัติการโดยตรง

.

กัญชาซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสินค้าผิดกฎหมาย หากมีความเข้มข้นต่ำจะมีส่วนผสมของสาร THC ต่ำกว่า 10% ขณะที่กัญชาแรง ๆ จะมีสาร THC เข้มข้นมากกว่า 10% ขึ้นไป

.

ผลการศึกษาพบอะไรบ้าง
ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า

- จากรายงานด้วยตัวเองของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า การใช้กัญชารายวันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเวชขั้นต้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมจำนวน 29.5% (หรือ 266 คนจากทั้งหมด 901 คน) ของผู้ป่วยและเทียบกับ 6.8% (84 คนจาก 1,237 คน) ของกลุ่มควบคุม

.
-การใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยจิตเวชขั้นต้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม 37.1% ของกลุ่มผู้ป่วย (334 คน ใน 901คน) เทียบกับ 19.4% ของกลุ่มควบคุม (240 คน ใน 1,237 คน)
ในสถานที่ 11 แห่งที่ทำการศึกษาพบว่า ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำทุกวัน มีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเวชขั้นต้นสูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชา

.
- ความเสี่ยงนี้เพิ่มเป็น 5 เท่าในผู้ที่ใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงทุกวัน

.
- ไม่มีหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชาน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์กับโรคจิตเวช ทั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงความแรงของกัญชา

.
- ผู้ศึกษาประเมินว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยรายใหม่ (20.4%) ของโรคจิตเวชในสถานที่ทำการศึกษาทั้ง 11 แห่ง อาจเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาทุกวัน และ 1 ใน 10 (12.2%) มีความเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาที่มีฤทธิ์สูง

.
- พบว่า ในกรุงลอนดอน 1 ใน 5 (21%) ของผู้ป่วยโรคจิตเวชรายใหม่อาจมีความเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาทุกวัน และเกือบ 1 ใน 3 (30%) เป็นกัญชาที่มีความเข้มข้นสูง

.

จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์พบอีกว่า การกำจัดกัญชาที่มีความแรงออกจากตลาด อาจลดอัตราการเกิดโรคจิตเวชของกรุงลอนดอนจาก 45.7 เป็น 31.9 รายต่อประชากร 100,000 คนได้

.

นั่นอาจจะหมายความว่า สำหรับทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนซึ่งใช้เป็นสถานที่ที่พวกเขาทำการศึกษา หากดำเนินการกำจัดกัญชาดังกล่าวออกไปจะทำให้ ผู้ป่วยโรคจิตเวชน้อยลงได้ถึง 60 คนต่อปี

.

สูบกัญชาที่ไม่แรงมาก และแค่ครั้งคราว ได้หรือไม่ ?

.
นิค ฮิกมอตต์ จากองค์กรการกุศลด้านยาเสพติดและแอลกอฮอลชื่อว่า Addaction บอกว่า “เรามีปัญหาเกี่ยวกับความเข้มข้นของกัญชา คนที่เสพกัญชาแรง ๆ เป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรง มันอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสมองของผู้ที่มีอายุน้อย และอยู่ในวัยกำลังพัฒนาสมอง”

.

“คำแนะนำของผมคือ การหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงทุกวัน และใส่ใจว่ามันทำให้คุณรู้สึกเช่นไร ถ้าหากมันลงเอยด้วยการทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่สงบ อาจเป็นการดีที่จะไม่ไปลองมัน มันไม่ใช่ความคิดที่หากจะใช้กัญชาควบคู่กับแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดอื่น ๆ”

.

สิ่งสำคัญคือ อย่ามีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเรื่องนี้เกินจริง คนจำนวนมากทดลองกัญชาแล้วเดินหน้าต่อโดยไม่มีปัญหาใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ ผมแนะนำให้ติดต่อหมอหรือร้านขายยาในพื้นที่

.

กัญชาอาจมีความแรงและประเภทที่แตกต่างกันออกไป แต่กัญชาที่มีกลิ่นเหม็นมากจนเรียกกันว่า "สกั๊งค์” มักมีแนวโน้มว่ามีสาร THC ในระดับสูงกว่ากัญชาชนิดอื่น ๆ

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cq5n2v51075o