ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2567 (เกือบ 2 เดือน) มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) แล้ว 30 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า จากสถิติปี 2566 ช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2566 (4 เดือน) ซึ่งพบว่า มีผู้เสียชีวิต 37 คน

.

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค บอกว่า เด็กเล็กวัยทารกจนถึงอนุบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ฯลฯ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มอาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง คือกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้

.

เราจะแยกความแตกต่างระหว่างการเป็นโรคลมร้อนหรือแค่อ่อนเพลียจากความร้อนอย่างไร

.
อาการอ่อนเพลียจากความร้อนเกิดขึ้นเมื่อร่างกายคุณร้อนเกินไป และพยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับมัน

.

อาการดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมถึงผู้ที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาออกกำลังกายอย่างหนักในอุณหภูมิที่สูง หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลางแดดตลอดทั้งวัน ความอ่อนเพลียที่เกิดจากความร้อนนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที หรือเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป กินเวลาหลายชั่วโมง

.

คุณสามารถแยกความแตกต่างของอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมร้อนได้ดังนี้

.

กรมควบคุมโรคแนะนำว่า ผู้ใช้ชีวิตกลางแจ้งควรดื่มน้ำ 2-4 แก้ว/ชั่วโมง และควรดื่มทุกชั่วโมง

.

อาการอ่อนเพลียจากความร้อน

- รู้สึกหน้ามืดจะเป็นลม หรือ วิงเวียนศีรษะ
- เหงื่อออกมากเกินไป
- ผิวหนังชื้น
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อ

.

โรคลมร้อน

- รู้สึกมึนงงสับสน
- ไม่มีเหงื่อออก
- อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังร้อนและแห้ง
- อาจหมดสติหรือมีอาการชักเกร็งหรือเป็นโรคลมชัก

.

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย ได้แก่

- ปวดหัว
- เวียนหัว มึนงง
- เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบาย
- เกิดตะคริวบริเวณแขน ขา และท้อง
- หายใจเร็วหรือชีพจรเต้นเร็ว
- อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- รู้สึกกระหายน้ำมาก
- เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารกับคุณได้ว่า พวกเขารู้สึกอย่างไร อาจมีอาการง่วงนอนและตัวอ่อน ไม่มีแรง

.

สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง และต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว

.
อาการอ่อนเพลียจากความร้อนอาจกลายเป็นโรคลมร้อนได้ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินต่อชีวิต มันหมายความว่า ร่างกายของคุณไม่สามารถจัดการกับความร้อนได้อีกต่อไป และอุณหภูมิแกนกลางของคุณกำลังสูงเกินไป จึงจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

.

- รู้สึกไม่สบาย แม้พักผ่อนในที่มีอากาศเย็นแล้วมากกว่า 30 นาที รวมถึงดื่มน้ำเข้าไปแล้วจำนวนมาก
- ไม่มีเหงื่อออก แม้รู้สึกร้อนมาก
- มีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส
- หายใจเร็วหรือหายใจถี่
- รู้สึกสับสนมึนงง
- มีอาการชัก
- หมดสติ
- ไม่ตอบสนองใด ๆ

.

ความสามารถของร่างกายในการควบคุมอุณหภูมิยังไม่พัฒนาเต็มที่ในเด็ก และอาจลดลงในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหรือจากปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้มีน้ำหนักมากหรือเป็นโรคอ้วน ยังทำให้ร่างกายเย็นลงได้ยากขึ้นด้วย

.

อาการอ่อนเพลียจากความร้อนเกิดขึ้นเมื่อร่างกายคุณร้อนเกินไป และพยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับมัน

เราควรทำอย่างไร

.
- หากเป็นโรคลมร้อนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเท่านั้น แต่หากมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน เบื้องต้นสามารถปฐมพยาบาลได้ด้วยการให้เขาพักผ่อนในที่เย็น เช่น ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือที่ไหนสักแห่งในที่ร่ม
- ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ผิวหนังสัมผัสกับอากาศที่ถ่ายเทภายนอกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ทำให้ผิวเย็นลงด้วยการใช้สิ่งที่คุณมี เช่น ฟองน้ำชุบน้ำ หรือผ้าสักหลาดที่เย็นหรือเปียก ฉีดสเปรย์ละอองน้ำไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งประคบเย็นบริเวณรอบคอและรักแร้ หรือห่อด้วยผ้าเย็นหรือผ้าเปียก
- พัดผิวของพวกเขาขณะที่ยังเปียกชื้น สิ่งนี้จะให้ทำให้น้ำระเหย ช่วยให้ผิวของพวกเขาเย็นลง
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ที่ใช้กับนักกีฬา
- อยู่กับพวกเขาจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- อาการควรดีขึ้นและอุณหภูมิควรเย็นลงภายใน 30 นาที หากไม่เป็นไปตามนั้น ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4n1q9xd3zyo