ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาหารนั้นซับซ้อน และบ่อยครั้งมันมักไม่ดีต่อสุขภาพ
คุณเคยพบว่าตัวเองยังชอบทานของหวานเพื่อความสุข ถึงแม้ว่าเพิ่งรับประทานอาหารมื้อหลักที่มีประโยชน์และน่าพึงพอใจไปแล้วหรือไม่ ? หากเป็นเช่นนั้น คุณอาจกำลังหลงติดกับนิสัยการกินที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าการกินแบบเฮโดนิก (Hedonic eating)
.
“การกินที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความหิวโหย แต่เกิดจากความปรารถนาที่จะกินอาหารเพื่อความสุข” นักวิทยาศาสตร์อธิบายนิสัยการกินที่ตั้งชื่อตาม “เฮดอน” ซึ่งเป็นคำภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ความสุข” นอกจากนี้ เฮดอนยังเป็นเทพีแห่งความสุขตามตำนานเทพเจ้าของกรีกด้วย
.
แม้ว่าความสุขในบางระดับจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารด้วยความสมัครใจเกือบทั้งหมด แต่การกินแบบเฮโดนิกในกรณีที่ไม่ได้กินเพราะต้องการแคลอรีหรือพลังงาน มักเชื่อมโยงกับสังคมที่หาอาหารได้ง่าย และความหิวโหยเป็นสิ่งหายาก
.
ความหิวแบบเฮโดนิกคืออะไร ?
ร่างกายของเราทำงานด้วยพลังงานจากอาหารหรือแคลอรีที่เราได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค เมื่อเราเผาผลาญแคลอรีมากกว่าที่เรารับเข้าไป ร่างกายจะตอบสนองด้วยการเพิ่มความอยากอาหาร นั่นเป็นเพราะว่ากระเพาะอาหารของเรามีระบบฮอร์โมนที่บอกสมองเมื่อท้องของเราเริ่มว่างเปล่า สิ่งนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า “ความหิวทางกาย”
.
แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า “ความหิวแบบเฮโดนิก” เกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้สึกหิวทางชีวภาพ แต่ส่วนใหญ่เป็นความต้องการบริโภคอาหารเพื่อความสุขมากกว่า
.
“เกือบทุกคนมีนิสัยการกินแบบเฮโดนิก และทุกคนมีพฤติกรรมที่มุ่งเน้นเป้าหมายไปที่ความพึงพอใจ” เจมส์ สตับส์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความอยากอาหารและความสมดุลของพลังงาน จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร กล่าว
.
“อาหารเป็นความสุขสำหรับบางคน เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ”
.
ศ.สตับส์ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือไปจากความสุขแล้ว นิสัยการกินของเราส่วนใหญ่ยังเชื่อมโยงกับตัวแปรอื่น ๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกด้วย หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดและความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งเขาบอกว่า “มันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างความแตกต่างของความหิวทางกายและความหิวแบบเฮโดนิก”
.
เมื่อเรากินเพื่อความสุข เราจะถูกดึงดูดให้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เกลือสูง หรือไขมันสูง
เมื่อผู้คนหิวโหยเพราะต้องการแสวงหาความสุขจากการกิน พวกเขาถูกดึงดูดให้รับประทานสลัดหนึ่งชาม กะหล่ำปลีหั่นบาง ๆ หนึ่งแผ่น หรือกินกะหล่ำดาวหรือเปล่า ? เราพบว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น
.
ดร.เบธาน มี้ด อาจารย์และนักวิจัยจากกลุ่มงานวิจัยความอยากอาหารและโรคอ้วนของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล บอกว่า “โดยธรรมชาติแล้ว เรามักกินอาหารที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลที่สูง เพื่อเป็นการให้รางวัล เนื่องจากมันเป็นแหล่งพลังงานที่ดี”
.
“เราถูกดึงดูดจากอาหารเหล่านี้ เนื่องจากพลังงานที่ได้จากพวกมัน รวมถึงความสุขที่ได้รับเมื่อกินอาหารเหล่านี้เข้าไป และมันอาจเป็นเรื่องยากหากต้องการแยกแยะว่าความต้องการกินอาหารเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะความหิวทางกายหรือความหิวแบบเฮโดนิก”
.
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
อาหารที่อัดแน่นไปด้วยไขมัน เกลือ และน้ำตาล ยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการกินแบบเฮโดนิก
.
นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงจูงใจที่ขับเคลื่อนด้วยความหิวแบบเฮโดนิก ส่งผลให้เกิดการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่โรคอ้วนได้
.
“ตอนนี้เรารายล้อมไปด้วยอาหารรสเลิศ หาง่าย พร้อมรับประทาน” ศาสตราจารย์สตับส์ กล่าว
.
“สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดสูตรอาหารที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงโรคอ้วนในสังคมสมัยใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่า 8 ใน 10 คนบนโลกนี้ เป็นโรคอ้วน”
.
เราทำอะไรได้บ้าง
จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ในทางทฤษฎีแล้ว การกินเพื่อเติมเต็มความสุขไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันกระตุ้นความรู้สึกได้รับรางวัล แต่ความเสี่ยงจากการกินมากเกินพอดี จะทำให้เกิดการเสพติดและส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเป็นโรคอ้วน
.
งานศึกษาของตุรกีที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน ม.ค. 2024 ในวารสารว่าด้วยสารอาหารของมนุษย์และการควบคุมอาหาร (The Journal of Human Nutrition and Dietetics) ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความหิวแบบเฮโดนิกและความหิวในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน
.
พวกเขาพบว่าความหิวโหยแบบเฮโดนิกที่เพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานจะมีความนับถือตนเองลดลง และเกิดการตีตราตนเองจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
.
ดังนั้น เราควรทำเช่นไรเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งเกิดจากการกินแบบเฮโดนิก ?
.
“งานวิจัยบอกเราว่าความหิวแบบเฮโดนิก สามารถลดลงได้เมื่อผู้คนเริ่มลดน้ำหนัก” ดร.มี้ด บอก
.
“อาจเป็นไปได้ว่าคนที่จัดการกับสิ่งนี้ได้ จะสามารถเปลี่ยนวิธีที่พวกเขาตอบสนองต่ออาหารเหล่านี้ หรือเปลี่ยนวิธีให้รางวัลตัวเองที่แตกต่างออกไป”
.
ศาสตราจารย์สตับส์ บอกว่า การลดน้ำหนัก การพัฒนานิสัยการกินใหม่ หรือปรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่สุขภาพดีมากขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลาย ๆ คน ดังนั้น มันจึงมีวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นการกินแบบเฮโดนิกที่น่าพึงพอใจด้วยเช่นกัน
.
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเพิ่มกิจกรรมของร่างกาย ให้นึกถึงกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความพึงพอใจมากขึ้น เช่น คุณจะไปยิมไหม อาจจะไม่ ถ้าอย่างนั้นไปเดินกับเพื่อหรือเต้นรำดีกว่าไหม ?”
.
“ประเด็นสำคัญคือการพยายามทำความเข้าใจว่าแง่มุมใดของความสุขที่กระตุ้นชีวิตของคุณ และพยายามปรับนิสัยใหม่ของคุณให้สอดคล้องกับสิ่งที่ทำให้คุณมีความรู้สึกพึงพอใจ”
.
การกินอย่างมีสติอาจเป็นวิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคมากเกินไป ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนิสัยการกินแบบเฮโดนิกได้ด้วยเช่นกัน
.
แต่ “กะหล่ำปลีไม่ได้อยู่ท้อง” ศาสตราจารย์สตับส์ กล่าวเสริม พร้อมกับแนะนำแนวทางการบริโภคอาหารที่สมดุลมากขึ้นแทน
.
“เราไม่ได้ต้องการหยุดผู้คนให้เลิกกินแบบเฮโดนิก” เขากล่าว
.
“เราต้องการเปลี่ยนความสุขไปสู่การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น”
.
เขากล่าวว่ามันเป็นไปได้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับอาหารมากขึ้น โดยไม่กระทบต่อความสุขที่ต้องพึ่งพาอาหารถูกปากมากจนเกินไป
.
“คุณสามารถใช้สิ่งที่เราเรียกว่าวิถีชีวิตแบบ 80 ต่อ 20” ศาสตราจารย์สตับส์ ระบุ
.
“คุณสามารถกินอาหาร 80% จากอาหารที่มีความหนาแน่นของแคลอรีต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารอาหาร และเพื่อให้คุณมีความสุขกับการกินมากขึ้น คุณยังเหลืออีก 20% เพื่อใช้เพลิดเพลินกับรางวัลและขนมที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิต และมักเชื่อมโยงกับงานเลี้ยงหรือกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญด้วย”
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cmm3960rprgo